ทำอย่างไรหากผู้สูงอายุไม่อยากย้ายบ้าน รู้จักหลักการ ‘สูงวัยในถิ่นที่อยู่’

ความผูกพันกับห้องที่เคยอยู่ ตลาดที่เคยไป เพื่อนบ้านที่เคยคุยด้วย อาจจะทำให้ผู้สูงวัยไม่ต้องการย้ายออกจากบ้านของตนเองไปสู่บ้านพักคนชรา จนอาจจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งกับลูกหลานและคนดูแล ทว่าหากสามารถนำหลักการ ‘สูงวัยในถิ่นที่อยู่’ (aging in place) มาใช้ ทางสายกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจก็ยังคงมี

สถิติจำนวนผู้สูงอายุในไทยปี 2564 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า มีผู้สูงอายุเพียง 910 คน ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของสถานสงเคราะห์คนชราสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมีเพียง 1,286 คน ที่อยู่ใต้ความดูแลของสถานสงเคราะห์คนชราสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีทั้งหมดถึง 12.5 ล้านคน

ดังนั้น การนำผู้สูงอายุไปอยู่ภายใต้ความดูแลของสถานสงเคราะห์คนชราทั้งหมดจึงเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันบ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุมีความผูกพันกับที่อยู่อาศัยและชุมชนรอบๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้หลักการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ถูกผลักดันมากขึ้น

การนำหลักการสูงวัยในถิ่นที่อยู่มาใช้แก้ไขปัญหานี้ หมายถึง การเน้นให้ผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ในที่พักและชุมชนเดิม เพียงแต่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการรักษาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ เพิ่มความสะดวกในการดำรงชีวิต และสร้างเสริมชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุตลอดช่วงชีวิต

ขั้นแรกจึงเป็นการปรับปรุงสถานที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการปรับปรุงให้มีพื้นที่ยกสูงน้อยที่สุด และมีส้วมในห้องน้ำที่ใช้งานบ่อย ดังในงานศึกษาของวัลย์พร วรพรพงษ์ และคณะ (2562) ระบุชัดเจนว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 10.3 ของจำนวนการสำรวจเคยหกล้มบ่อยที่สุดบริเวณห้องน้ำและบันได ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่การทุพพลภาพได้

หลักการสำคัญในการปรับปรุงที่พักอาศัย แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

  1. การขจัดอุปสรรค เช่น ลดการมีพื้นที่ต่างระดับ ประตูที่หนักเกินไป มีสิ่งกีดขวางทางเดิน เป็นต้น
  2. สร้างทางเลือก เช่น การมีทางลาดคู่ไปกับการมีบันได
  3. การมีสภาพแวดล้อมเปิดกว้างที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ ลดการพึ่งพิงลูกหลานในการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในส่วนที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด รวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นชุมชนก็ควรที่จะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับหลักการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ไปด้วย โดยดำเนินการผ่านการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำกับด้วยมาตรการจากแผนผู้สูงอายุ และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้รัฐช่วยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคารสาธารณะให้มากขึ้น

การปรับพื้นที่ให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

  1. การปรับสภาพแวดล้อมส่วนบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ
  2. การปรับสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น การมีมุมเล่นหมากรุก หรือมุมสวดมนต์ เป็นต้น
  3. การปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ หมายถึง การเน้นความปลอดภัยมากกว่าความสวยงาม เช่น การมีราวจับและทางลาดที่ปลอดภัย หรือการจัดให้มีเก้าอี้ผู้สูงอายุหันหน้าชนกันในชุมชน เพื่อช่วยให้เกิดการพูดคุย เป็นต้น

ตัวอย่างสำคัญของการปรับปรุงชุมชนให้สอดคล้องกับการมีผู้สูงอายุจำนวนมาก คือ การปรับรถขนส่งสาธารณะเป็นรถชานต่ำ การมีที่นั่งทุกๆ 200 เมตร การขยายทางเท้า ไปจนถึงการส่งเสริมให้มีมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย เป็นต้น

จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถบรรลุหลักการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ได้ แต่ต้องพึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนทั้งชุมชน เพราะชุมชนเป็นของคนทุกวัย และช่วยทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และมีความสุขในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมกับคนที่ตนเองรักตลอดช่วงอายุ

ที่มา:

  1. รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564. (2564). มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) กองทุนผู้สูงอายุ และ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. วัลย์พร วรพรพงษ์, วรพนิต ศุกระแพทย์ และ วลัยนารี พรมลา. (2562). ผู้สูงวัยในถิ่น. วารสารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ. 6(2). 540-549. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/svittj/article/download/243795/166940

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ