ถอดรหัสนโยบาย ‘บำนาญ’ ผ่านสวัสดิการ 3 ประเทศที่ดีที่สุดในโลก
หลังจบเสวนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับนโยบาย ‘บำนาญถ้วนหน้า’ มีคำถามมากมายตามมา ว่าสิ่งนี้ทำได้จริงมากน้อยเพียงใด มีแนวทางการดำเนินนโยบายอย่างไร
วันนี้ ‘ยังแจ่ม’ เสนอแนวทางสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ ผ่านกรณีตัวอย่าง 3 ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก อ้างอิงจาก Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) บริษัทให้คำปรึกษาด้าน HR และการบริหารสินทรัพย์จากสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่การจัดอันดับระบบบำนาญของประเทศต่างๆ 44 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2022
หากนำแนวทางการจัดสรรบำนาญจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ระบบสวัสดิการดูแลผู้คนมาปรับใช้ ให้เข้ากับสภาวะทางการเงินและสังคมของประเทศไทย เชื่อว่าจะสามารถยกระดับบำนาญในไทยให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ชีวิตได้
ไอซ์แลนด์
บำนาญ 3 ระบบ ได้แก่
1) เงินบำนาญสาธารณะจากภาษีประชาชน
- จัดเก็บภาษี 15% ของรายได้เฉลี่ย
- ผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำ จะได้รับเงินบำนาญสูงสุดถึง 70% ของรายได้เฉลี่ย
- เงินบำนาญของรัฐจะปรับตามอัตราค่าจ้าง
- บุคคลทั่วไปจะได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุ 67 ปี
2) เงินบำนาญจากการประกอบอาชีพ
- ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถเบิกเงินบำนาญได้ตั้งแต่อายุ 65 ปี (ภายใต้เงื่อนไขบางประการ)
3) เงินบำนาญส่วนตัว
*สวัสดิการเสริม อาทิ เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่อยู่คนเดียว เงินช่วยเหลือยานพาหนะสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ค่ายาและค่ารักษาพยาบาล ค่าไฟจากการใช้เครื่องออกซิเจน และเครื่องช่วยฟัง
เนเธอร์แลนด์
บำนาญ 3 ระบบ ได้แก่
1) เงินบำนาญของรัฐ
- จ่ายให้ประชาชนอายุ 66 ปีขึ้นไป สูงถึง 70% ของค่าจ้างสุทธิ
- ทุกคนที่อาศัยหรือทำงานในเนเธอร์แลนด์ อายุ 15-65 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากรัฐ แม้ไม่ใช่พลเมืองเนเธอร์แลนด์
2) กองทุนบำนาญสะสม
- เป็นโครงการเงินบำนาญแบบรวมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหรือบริษัท
- รูปแบบคล้ายระบบประกันสังคม โดยบริษัทจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นรายเดือน
- นำเงินกองทุนไปลงทุน และจ่ายผลตอบแทนเพื่อประโยชน์ของผู้เกษียณอายุ
3) เงินบำนาญส่วนบุคคล
- ส่วนใหญ่จัดทำโดยผู้ประกอบอาชีพอิสระและพนักงานที่ไม่มีกองทุนบำนาญรวม
- บุคคลทั่วไปสามารถซื้อและจัดการเงินบำนาญหรือการลงทุนได้อย่างอิสระ เช่น ประกันชีวิต หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีที่เกี่ยวข้อง
เดนมาร์ก
เงินบำนาญในเดนมาร์กมีทั้งโครงการสาธารณะและโครงการส่วนตัว ประกอบด้วย
1) เงินบำนาญทางสังคมถ้วนหน้า
- จ่ายให้กับทุกคนที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ โดยไม่คำนึงถึงเงินสมทบของผู้เกษียณ
- จ่ายให้ผู้ที่มีอายุ 67 ปีขึ้นไป
- มีการปรับจำนวนเงินให้เหมาะสมกับรายได้ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเดนมาร์กเป็นเวลา 40 ปี ขณะที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในเดนมาร์กน้อยกว่า 40 ปี จะได้รับเงินบำนาญในอัตราที่ลดลงตามสัดส่วน
2) เงินบำนาญสำหรับผู้พิการ
- ได้รับการสนับสนุนจากเงินภาษี
- พิจารณาจากศักยภาพในการทำงานและสุขภาพ โดยจะได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและที่อยู่อาศัย
3) เงินบำนาญจากการประกอบอาชีพ
- ครอบคลุมแรงงานชาวเดนมาร์กเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์
- นายจ้างจ่ายเงินสมทบ 2 ใน 3 และลูกจ้างจ่าย 1 ใน 3 ให้กับกองทุน
4) เงินบำนาญส่วนบุคคลและเงินบำนาญเสริม
- เป็นระบบสมัครใจ และขึ้นอยู่กับข้อตกลงร่วมกันของแรงงาน
ที่มา:
https://www.norden.org/en/info-norden/old-age-pension-iceland
https://www.pensionfundsonline.co.uk/content/country-profiles/iceland
https://www.expatica.com/nl/finance/retirement/the-dutch-pension-system-106854/