ห้องย่อย 6: คนไร้บ้าน พลเมือง ที่ร่วมสร้างเมือง

                            การเข้าถึงสุขภาวะที่ดีของคนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางในเมือง มีหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง มีความจำเป็นต้องถูกออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสภาพการณ์ของคนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางในเมือง อาทิ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ต้องมีรูปแบบหลากหลาย การเพิ่มศักยภาพด้านอาชีพ การเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ ที่ใช้ศักยภาพของแกนนำ และเครือข่าย สร้างช่องทาง และพัฒนากลไกการดูแลสุขภาพโดยชุมชน ที่เชื่อมต่อกับระบบบริการทางสุขภาพ โดยเฉพาะในยามวิกฤต

กำหนดการ

Sapphire 201

เวลากิจกรรม
12.30-13.20 น.ลงทะเบียน
13.20-13.35 น.กล่าวเปิดห้องย่อย “คนไร้บ้าน พลเมือง ที่ร่วมสร้างเมือง”
โดย นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์
ประธานกรรมการกำกับทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านและคนจนเมือง

13.35-15.00 น.“เรื่องเล่าชีวิตที่เปลี่ยนไป”
เสียงจากหัวใจคนไร้บ้าน 6 จังหวัด
เปิดวงให้คนไร้บ้านแต่ละพื้นที่ได้พูดคุยถึง “ชีวิตที่เปลี่ยนไป” หลังจาก ได้รู้จักกับจุดประสานงานย่อยคนไร้บ้านแต่ละจังหวัด ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้จากแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาชีพรายได้และการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ
ดำเนินรายการโดย คุณวิชาญ อุ่นอก มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
ฉายวิดีทัศน์ห้องเช่าคนละครึ่ง
15.00-15.30 น.

เล่าเรื่อง “จากวิกฤตโควิด สู่ศูนย์สุขภาวะชุมชน”
สะท้อนศักยภาพของชุมชน ที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในการป้องกันดูแลสุขภาวะของคนในชุมชนทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤต
ผู้ร่วมเล่า

 นางสาววิมล ถวิลพงษ์ ชุมชนพูนทรัพย์
นางสาวสุธีทิพย์ ยศสุนทร ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง
นางสาววรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

ดำเนินรายการโดย เนืองนิช ชิดนอก และวิเชียร ทาหล้า มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

15.30-17.00 น.

เสวนาจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานกับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางในเมือง
“สิทธิของผู้เช่าห้องในเมือง จะมีโอกาสเข้าถึงสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร”
ผู้ร่วมเสวนา

 ● นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 (สสส.)
● ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
● นายอุเทน ชนะกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต
● นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม
● นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
● นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
● ตัวแทนผู้เช่าห้องราคาถูก
ดำเนิน

รายการโดย วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง
เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส กองบรรณาธิการอยู่ดีมีแฮง ThaiPBS

เสียงเล็กๆ ของ “คนไร้บ้าน-คนจน” พลเมืองที่ร่วมสร้างเมือง

ขี้เกียจ ขี้เมา ขี้เหล้า ขี้ยา ขี้ขโมย สารพัด “ขี้” ถูกเหมารวม ตราหน้าคนจรจัด คนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้าน สุดแต่จะเรียก “มันเป็นแค่บางคนครับ” – แจ็ค จากบ้านทอฝัน ที่พักพิงของคนไร้บ้าน จ.ระยอง เอ่ยปากตอบถึงสิ่งที่สังคมตั้งคำถามและตีตราพวกเขา

แจ็ค อาจไม่ต่างจากคนไร้บ้านอีกหลายคน ที่มีจุดเริ่มต้นออกจากบ้านไปตายดาบหน้า เขาออกตระเวนหางานทำที่ จ.ระยอง พร้อมจำกัดความตัวเองว่า “ตอนนั้นยังไม่เป็นคนไร้บ้านเต็มที่ เพราะบ้านมีแต่มันไม่มีความสุข”

ชีวิตไม่ได้ง่าย พอหางานทำไม่ได้ ไม่มีที่พักที่สุดก็คล้ายเป็นคนไร้บ้าน โชคดีได้เจอพี่มานพ (เจ้าหน้าที่อาสาสมัครบ้านทอฝัน) ช่วยเหลือ ซื้อรองเท้าให้แจ็คขี่มอเตอร์ไซค์ไปสมัครหางานทำ แถมยังออกทุนเช่าห้องให้ไม่ต้องนอนในที่สาธารณะ แจ็คเล่าว่า เกรงใจมาก อยากให้เขาเก็บเงินไว้ไปช่วยคนที่แย่กว่าเขา แต่ก็อยู่ห้องเช่าได้เดือนกว่าก็ไปทำงานรับเหมาที่จันทบุรี เริ่มกลับมามีเงินในบัญชี มีเงินซื้อโทรศัพท์ และส่งเงินให้ลูก ถือว่าชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม เพียงแค่เวลากลับบ้าน บ้านของแจ็ค คือ บ้านทอฝัน ที่ จ.ระยอง

นี่คือเรื่องเล่าของแจ็ค จากวง “เรื่องเล่าชีวิตที่เปลี่ยนไป เสียงจากหัวใจคนไร้บ้าน 6 จังหวัด” ที่เปิดให้คนไร้บ้านแต่ละพื้นที่ได้พูดคุยถึง “ชีวิตที่เปลี่ยนไป” หลังจากได้รู้จักกับจุดประสานงานย่อยคนไร้บ้าน ในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 “2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populationsในห้องย่อย คนไร้บ้าน คนจนเมือง หัวข้อ: คนไร้บ้าน พลเมือง ที่ร่วมสร้างเมือง จัดโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือ สำนัก 9 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี กทม.

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์

 นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านและคนจนเมือง เปิดประเด็นการทำงานของ สสส. กับประชากรกลุ่มเฉพาะนานนับสิบปี นอกจากการช่วยเหลือฟื้นฟู เรามองเห็นศักยภาพของคนไร้บ้านที่ช่วยตัวเองได้พอสมควร การทำงานของ สสส. จากนี้ต้องเปลี่ยนจากตั้งรับขยับเป็นเชิงรุก ทำอย่างไรไม่ให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีศูนย์คนไร้บ้านคล้ายกันหลายในพื้นที่ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู (บางกอกน้อย) บ้านโฮมแสนสุข จ.ขอนแก่น บ้านเตื่อมฝัน จ.เชียงใหม่ บ้านพูนสุข จ.ปทุมธานี กลุ่มคนไร้บ้านกาญจนบุรี ซึ่งคนไร้บ้านที่ได้เข้าไปพักพิงในศูนย์คนไร้บ้านแต่ละจังหวัดเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาชีพ รายได้ และการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ

ชีวิตที่เปลี่ยนไป…เสียงจากหัวใจคนไร้บ้าน

นก ตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน จ.กาญจนบุรี เป็นอีกเคสที่น่าสนใจ เพราะกลายเป็นคนไร้บ้านในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด จากเดิมที่เป็นแม่บ้านทำงานในโรงแรม เรียกว่า มีงานทำ มีเงินเดือนใช้ มีโทรศัพท์ 2 เครื่อง มีทองใส่ เช่าบ้านอยู่กับลูก ๆ ในราคาเดือนละ 1,500 บาท ก็พังทลาย เมื่อโควิดมาโรงแรมเลิกจ้าง โดยไม่รู้จะหันไปทางไหน สุดท้ายเมื่อไม่มีเงินก็ต้องออกจากห้องเช่า ขายทุกอย่าง จากที่เคยมีเงินให้ลูกก็ไม่มี ท้อจนอยากฆ่าตัวตาย แต่เมื่อวันหนึ่งได้เจอกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง จ.กาญจนบุรี ชวนให้เข้ากลุ่มทำงานเป็นผู้ช่วย ทำให้ไม่ท้อ มีงานทำ ชีวิตเปลี่ยนไป กลับมามีทุกอย่าง และทำงานทุกอย่างที่ทำได้ เช่น เก็บขยะ ขายก๋วยเตี๋ยวในตลาด

ขณะที่พัด คนไร้บ้านที่มีชีวิตแถวหัวลำโพง เคยเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวมาก่อน โควิด-19 ทำให้หมดเนื้อหมดตัว ต้องเช่าห้องรายวันที่หัวลำโพงอยู่และเริ่มใหม่โดยการเป็นลูกจ้างรายวัน ชีวิตแค่ใช้เวลาให้ผ่านไปในแต่ละวันสองปีเต็มที่กับการใช้นามสกุลคนไร้บ้าน และรู้สึกคนไร้บ้านมีบุญคุณมากในวันที่ไม่รู้จะหันไปทางไหน  

“ตื่นมาทุกวันต้องหาเงินมาจ่ายค่าห้องเช่าให้ได้ ไม่มีข้าวกินเรายังได้ข้าวแจก แต่ถ้าหาเงินไม่ได้ก็ต้องออกมานอนข้างนอก จนมาเจอพี่ เพื่อน คนไร้บ้าน ได้มาแชร์ห้องเช่าด้วยกัน เป็นบ้านที่ทำให้นอนได้เต็มที่ อยากอาบน้ำก็ได้อาบ และได้เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง เราไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินพอที่จะมาจ่ายค่าห้องไหม มันไม่เหมือนห้องเช่าแต่เป็นครอบครัว ไม่สบาย เจ็บป่วยก็ดูแลกัน” พัดเล่าด้วยรอยยิ้ม

จากวิกฤตโควิด สู่ศูนย์สุขภาพชุมชน

นอกจากกลุ่มคนไร้บ้าน “คนจนเมือง” ก็เป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบไปสู่การเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นถึง 30% การช่วยเหลือดูแลกันเองอย่างเข้มแข็งในชุมชนถือเป็นทางออกหนึ่ง วงเสนาเรื่องเล่า “จากวิกฤตโควิด สู่ศูนย์สุขภาวะชุมชน” สะท้อนศักยภาพของชุมชนที่พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในการป้องกันดูแลสุขภาวะของคนในชุมชนทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤต

วิมล ถวิลพงษ์ แกนนำชุมชนพูนทรัพย์ เล่าว่า ชุมชนพูนทรัพย์อยู่ใต้สะพาน เขตสายไหม ก่อนโควิด-19 เป็นแกนนำชุมชน ที่เรียกร้องทำเรื่องย้ายสิทธิบัตรทองต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่พอโควิด-19 มาเราไม่มีความรู้ คนติดโควิดคือตาย แล้วบ้านหนึ่งอยู่กันหลายคน จะไปอยู่ที่ไหนอย่างไร โรงพยาบาลก็เต็ม พอระบาดระลอก 2 หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สสส. สปสช. ฯลฯ  เข้ามาให้ความรู้ จัดอบรม แพทย์ชนบทเข้ามารักษาคนเจ็บป่วย ทำศูนย์พักคอยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน พี่น้องลุกขึ้นมาดูสุขภาพของตัวเอง ซึ่งเราพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ เรียนรู้และจัดการได้จัดทำระบบ Home Isolation และ Community Isolation สังเกตในแต่ละครอบครัว ถ้าติดโควิดคนหนึ่งจะติดทั้งบ้าน หลังอบรมเราเข้าไปดูแลแยกสอนวิธีการกินอยู่ การใช้ห้องน้ำ การอยู่ร่วมกัน แต่ไม่ได้ติดทั้งบ้าน สร้างความมั่นใจสุดท้ายเราดูแลกัน

“ชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง” อีกหนึ่งชุมชนนำร่อง โครงการพัฒนาศักยภาพ และสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อสนับสนุนสุขภาวะคนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางในชุมชนเมือง จัดตั้ง “ศูนย์สุขภาวะชุมชน” สุธีทิพย์ ยศสุนทร แกนนำชุมชนเมืองใหม่มาลัยทอง บอกว่า ในชุมชนมีคนรุ่นใหม่และเด็ก เยาวชนจำนวนมาก สามารถพัฒนาศักยภาพเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) หรือ อสส. น้อย เด็กกลุ่มนี้มีศักยภาพเรียนรู้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง วัดความดันได้ อบรมให้ความรู้จนเด็ก ๆ มั่นใจในตัวเอง สามารถดูแลในกลุ่มชุมชนของเราได้

วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เสริมว่า ร่วมกับภาคีเครือข่าย และชุมชนนำร่อง จนเกิดศูนย์พักคอย และการทำ Home Isolation และ Community Isolation ผลปรากฏว่า ชุมชนสามารถดูแลพี่ น้องชาวชุมชน รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ กว่า 500 เคส ทุกเคสรอด สร้างความเชื่อมั่นว่า เราสามารถจัดการปัญหาสุขภาพระดับประเทศได้ โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในหน่วยให้บริการ ต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน เช่น สสส. พอช. ที่สนับสนุนการทำงานให้ผ่านวิกฤตมาด้วยกัน

“สสส. ภาคภูมิใจภาคีเครือข่ายทุกท่าน ณ ที่นี้ การทำงานเพื่อกลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน คนจนเมือง มีความหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นหนึ่งในความภูมิใจเป็นมิตรที่จะร่วมเดินทางกันไป”

ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส.

“ห้องเช่าคนละครึ่ง” โมเดลทางออกของชีวิตไร้บ้าน

          มาถึงการเสวนาช่วงสุดท้าย “สิทธิของผู้เช่าห้องในเมือง จะมีโอกาสเข้าถึงสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร” จากผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานกับคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางในเมือง คนจนเมืองกลุ่มใหม่ที่เป็นผู้เช่าห้องราคาถูก อยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสุขภาวะที่ดี เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ถูกมองเห็น

ผศ. ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นว่า ที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และห้องเช่าที่อยู่ในเมือง ตอบโจทย์กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย จากงานวิจัยสนับสนุนโดย สสส. เจาะลึกกลุ่มคนจนเมืองไร้เจ้าภาพ พบว่า คนเช่าบ้านมีหลายกลุ่ม คนจนเช่าบ้าน คนจนเช่าช่วง ดังนั้น เป็นคนไร้บ้านไม่ได้ง่าย คนมีครอบครัวเป็นคนไร้บ้านไม่ได้ จึงต้องดิ้นรนหาบ้านเช่าที่ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตว่าดีไหม สิ่งที่ค้นพบคือ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งการเคหะแห่งชาติ พอช. กทม. ไม่พบนโยบายที่อยู่อาศัย พบแต่หน่วยงานและโครงการที่อยู่อาศัย นโยบายยังไม่เข้าใจคนอยู่อาศัยว่ามีความต้องการอย่างไร มีใครบ้าง มีความหลากหลายแค่ไหน ทุกหน่วยงานมีข้อจำกัดที่ต้องทำ มีโครงการ แต่ไม่ถูกร้อยเป็นภาพรวม ไม่มีนโยบายในแง่ของรัฐศาสตร์

ภาวะที่หลุดระบบในบ้านเช่าเขตเมืองชั้นใน ชั้นกลาง และเมืองที่กำลังเติบโต มาจาก 3 เหตุผล คือ ความไม่มั่นคงจากสัญญา การขึ้นค่าเช่า และไล่รื้อ ประเด็นที่น่าสนใจคือ พอคำนวณจริง ๆ แหล่งงานกับคุณภาพชีวิตคนเช่าบ้านที่เช่าช่วง ค่าน้ำ ค่าไฟสูงกว่าคนในระบบทั่วไป ซึ่งยิ่งจนยิ่งจ่ายมากกว่าคนรวย เป็นสิ่งที่ไม่ควร ข้อเสนอในฝันคือ อยากให้มีความเข้าใจเรื่องที่อยู่อาศัยมากกว่าที่เป็นอยู่

ฐาปนีย์ ศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มองว่า กรุงเทพฯ ต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก และคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิหลายอย่าง กลุ่มคนจนเมืองเสี่ยงที่สุดที่เป็นคนไร้บ้าน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จุดนี้เกิดคำถามจากสังคม ทำไมคนไร้บ้านถูกทอดทิ้ง ทำอย่างไรจะช่วยเหลือได้เมื่อเปิดเวทีให้สะท้อนความรู้สึก พบทางออก 3 ข้อ คือ 1.ห้องเช่าราคาถูก 2. กลุ่มประสานงานเบ็ดเสร็จ 3. การมีงานทำ ซึ่งจากการพูดคุยโมเดลการทำห้องเช่าคนละครึ่ง ร่วมกับชุมชน เป็นโมเดลการทำงานในพื้นที่ กทม. จากที่คนไร้บ้านกลัวเรา กลายเป็นวิ่งมาหาเข้ามาพูดคุยกลายเป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อน ครอบครัว เกิดการทำงานที่เข้มแข็ง และมองว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะขยายพื้นที่ได้ เป็นการให้โอกาสเขา

กลุ่มคนเปราะบางเข้าถึงห้องเช่าราคาถูกได้ ธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ตอกย้ำว่า กทม. ในฐานะท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ ยุคนี้มีนโยบายเน้นเส้นเลือดฝอย กลุ่มเปราะบาง มีนโยบายมากถึง 6 นโยบาย ที่คำนึกสิทธิขั้นพื้นฐานของคน ทั้งการจัดงาน ที่อยู่อาศัย รวมถึงห้องเช่าราคาถูก แต่การทำให้เป็นรูปธรรมใช้เวลา พร้อมรับนโยบายมาทำงานแก้ไขปัญหาความเป็นเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อบ้านเช่าราคาถูก

เฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พอช. เป็นหน่วยงานที่ทำงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาให้กับตัวเอง โครงการบ้านมั่นคง ก็มีบางส่วนที่หลุดอยู่ถ้าจะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้รายได้น้อย พอช. ได้ตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดเพื่อทำงานเรื่องนี้ เรามีบ้านมั่นคงอยู่ในกทม. มีบ้านที่ว่างอยู่สามารถรับพี่น้องบ้านเช่าได้ไหม ถือเป็นแนวคิดเบื้องต้น อาจมีไอเดียหลากหลายมากกว่านี้ โจทย์สำคัญคือ โครงการบ้านเช่าราคาถูกจะช่วยในการตั้งต้นชีวิตที่ปลอดภัย

นพพรรณ พรหมศรี

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พูดถึงไอเดียสร้างห้องเช่าในเมืองราคาถูกว่า  ประเด็นที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงสุขภาวะที่ดี แต่ไม่ถูกทำให้ที่อยู่อาศัยเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รัฐไม่มีการจัดสรรเป็นนโยบายชัดเจนแต่ทำแบบกระจัดกระจาย ชุมชนคนจนที่เข้าเมืองเพื่อหางานทำ ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายเงินค่าเช่า การทดลอง “ห้องเช่าคนละครึ่ง” ที่หัวลำโพง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ที่ไม่ต้องแบกรับค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องขยับในเชิงนโยบายต่อไป เพื่อหามาตรการ กลไกสนับสนุนที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก ทำให้ชีวิตการอยู่ในเมืองของคนจนง่ายขึ้น

ไม่ว่าคนจะตีตราว่าเป็นคนจรจัด เร่ร่อน ไร้บ้าน หรือคนจนเมือง การต่อสู้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถ้าพวกเขาได้รับโอกาสให้ไปต่อก็ไปต่อได้ สำคัญคือต้องมองคนไร้บ้านอย่างเข้าใจ ไม่เหมารวม ซึ่งเราเห็นทางออกของปัญหาแล้ว เสียงเล็ก ๆ วันนี้อาจจะทำให้มุมมองคนไร้บ้าน คนจนเมืองดีขึ้น และเป็นโอกาสที่จะร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหากันต่อไป

“สสส. ทำงานเพื่อนคนไร้สิทธิไร้เสียงมานาน 10 ปี เห็นศักยภาพคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งช่วยตัวเองได้พอสมควร อย่างโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง หากินได้ มีที่อยู่อาศัย ก้าวต่อไปต้องขยับไม่ให้เกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เข้ามา เปลี่ยนจากตั้งรับขยับเป็นเชิงรุก”

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านและคนจนเมือง

บทความ:  งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ