Pride month เมื่อทุกสินค้าติดธงสีรุ้ง แต่ความเท่าเทียมทางเพศไทย มาไกลแค่ไหน?
Pride month เมื่อทุกสินค้าติดธงสีรุ้ง
แต่ความเท่าเทียมทางเพศไทย มาไกลแค่ไหน ?
.
เดือนมิถุนายน ธงสีรุ้งโบกสะบัดแต่งแต้มสีสันให้กับโลกใบนี้ เรากำลังพูดถึง “Pride Month” เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ในปีนี้ประเทศไทยจัดงานใหญ่อย่าง Bangkok Naruemit Pride 2022 ขบวนพาเหรดเพื่อผลักดันความเท่าเทียมทางเพศที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร โดยจะเริ่มต้นเดินขบวนจากวัดแขกไปจนถึงถนนสีลม ถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของ LGBTQ+ ในประเทศไทย และผลักดันวาระ “การสมรสเท่าเทียม”
.
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่อย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เดินหน้า นโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลเปิดงาน Pride Month 2022 ที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งได้ประกาศความเป็น Iconic LGBTQ+ Landmark ภายใต้แคมเปญ Samyan Mitr Pride 100% Love เพราะความรักมีหลากหลาย เนรมิตพื้นที่สีรุ้ง สร้างแรงบันดาลใจของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย เชิญชวนให้มาเช็คอินแบบ Pride Life พร้อมตอกย้ำการเป็นแลนด์มาร์คสนับสนุนความเท่าเทียมและความภูมิใจในตัวเอง จัดเต็มกับ Pride Walkway เพิ่มดีกรีสีสันแห่งสายรุ้งแบบเต็มพิกัดกับทางม้าลายสีรุ้ง ทางเดินสีรุ้ง รวมถึงการประดับไฟสีรุ้ง บริเวณทางเข้าหน้าศูนย์การค้า และอุโมงค์สามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. 2565 ตลอด 24 ชั่วโมง
.
สำหรับที่มาของธงสีรุ้งนั้นริ่มมาจาก กิลเบิร์ต เบเคอร์ นักเคลื่อนไหว และศิลปินผู้ออกแบบธงสีรุ้ง มาจากแนวคิดที่ว่ากลุ่มหลากหลายทางเพศ ควรมีธงเป็นของตัวเอง และที่เลือกใช้สีรุ้งเพราะต้องการสะท้อนความหลากหลายได้ดีที่สุด ธงรุ้ง 6 สี ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มิถุนายน 1978 โดยมีนิยามความหมายของแต่ละสี ดังนี้ สีแดง หมายถึง ชีวิต สีส้ม หมายถึง การเยียวยา สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์แห่งความหวัง สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ สีฟ้า หมายถึง ศิลปะ สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ จึงเป็นตัวแทนแห่งความหลากหลาย
.
ตลอดเดือนเราจะเห็นธงสีรุ้งถูกนำไปดัดแปลงเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างชนิด Limited Edition ซึ่งนอกจากผู้ผลิตจะได้บ่งบอกถึงจุดยืนของแบรนด์ต่อความหลากหลายทางเพศแล้ว ก็ยังเป็นโอกาสสร้างมูลค่าทางการตลาดเช่นเดียวกัน เราจะเห็น Social Media Campaign หรือเซเลบริตี้ จำนวนมากที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ซึ่งได้ยอดเอนเกจเมนต์ที่สูงเพื่อเพิ่มผู้ติดตาม
.
แต่ชีวิตของกลุ่มความหลากหลายทางเพศนั้น ไม่ได้มีแค่เดือนมิถุนายนให้ตระหนักถึงสิทธิเท่านั้น ยังมีอีก 11 เดือนในปีปฏิทินที่ยังต้องใช้ชีวิตภายใต้ความไม่เท่าเทียม และการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น การส่งเสริมสิทธิควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ครม. มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับไม่มีกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ใดออกมาคัดค้าน นอกจากภาคประชาสังคมและกลุ่มคนทำงานเชิงประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องต่อส็ด้วยตัวเองเท่านั้น จนกลายเป็นที่พูดกันว่า หรือจริง ๆ พวกกลุ่มความหลากหลายทางเพศ จะกลายเป็นกลุ่ม Segment ทางการตลาดกลุ่มใหม่เท่านั้น เมื่อไม่มีวาระเฉลิมฉลองก็ไม่ได้อยู่ในความสำคัญของแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
.
แตกต่างจากในต่างประเทศ อย่างแบรนด์เสื้อผ้า และ คาเฟ่แบรนด์ Maison Kitsune โปรโมตแคมเปญ “Pride Collection “ เพื่อบริจาคเงินจำนวน 15 % ที่ได้จากการขายสินค้าให้กับองค์กรป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น LGBT จากการบูลลี่ ที่ชื่อว่า The Trevor Project หรือแบรนด์กีฬาดังUnder Armour ได้สร้างแคมเปญ The Pride Collection เพื่อสนับสนุน LGBTQ+ Community ทำกิจกรรมร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง Pride Center of Maryland เพื่อสร้างยิม และพื้นที่สำหรับผู้ที่มีความหลาหลายทางเพศ (ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Safe Space) ในพื้นที่ Baltimore รัฐ Maryland เป็นต้น
.
เรียกได้ว่าพวกเขามองกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องสนับสนุนสิทธิ ไม่ใช่แค่กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเท่านั้น ต้องจับตาว่าแบรนด์ของไทยที่เฉลิมฉลองในเดือนมิถุนายนนี้ แบรนด์ไหนจะทำแคมเปญด้วยความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิ และแบรนด์ไหนเป็นเพียงแค่กลยุทธ์การตลาดฉาบฉวยที่ผ่านมาและผ่านไป เพราะเรื่องแบบนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีครั้ง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่าเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุน กลับไม่มีคนที่มาหนุนหลังที่มากพอ
.
#LGBT #PrideMonth
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me