เมื่อสัตว์เลี้ยงกลายเป็น “ลูก” ความเปลี่ยวเหงาของสังคมสูงวัยที่ไม่มีใครดูแล
เมื่อสัตว์เลี้ยงกลายเป็น “ลูก” ความเปลี่ยวเหงาของสังคมสูงวัยที่ไม่มีใครดูแล
.
“ลูกๆ มานี่มากินข้าวหรือยัง?” เสียงที่เรามักจะได้ยินจากคนชราหลายคนคุยกับสัตว์เลี้ยงอย่าง หมา แมว หรือนก สะท้อนถึงความรักความผูกพัน ในขณะที่ครอบครัวปัจจุบันกลายเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น ที่เมื่อลูกหลานเติบโตก็แยกย้ายไปตามทาง ต่างจากอดีตที่เป็นสังคมขยายที่เน้นการพักอาศัยภายใต้ชายคาเดียวกันหลายๆครอบครัว
.
Pet Humanization หรือ “ปรากฏการณ์ทำสัตว์เลี้ยงให้เป็นเสมือนมนุษย์” นั้นคือปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเปลี่ยวเหงาในหลายๆประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้นได้ดี โดยสะท้อนการแสดงออกทางความรักต่อสัตว์เลี้ยงที่เป็นเสมือนตัวแทนของลูก และยกตัวเองเป็น “Pet Parents” พร้อมทุ่มเท ทั้งเงิน และการเลี้ยงดู จนแทบไม่ต่างจากมนุษย์ มีผลสำรวจจาก มอร์แกน สแตนลีย์ว่า ร้อยละ 47 ของผู้เลี้ยงยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกอีกด้วย
.
เรื่องนี้สะท้อนมุมมองของโครงสร้างประชากรในสังคม ที่เปลี่ยนไป เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับห้าแสนกว่าคน ซึ่งลดลงเกือบ ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับเกือบ 20 ปีก่อน สอดคล้องกับการที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่เอื้อให้กับการมีลูก แต่ตัดสินใจไปมีสัตว์เลี้ยงแทน
.
ด้านกลุ่มคนสูงวัย ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้คนเรามีอายุที่ยาวนานขึ้น ในขณะที่ลูกหลานเองก็แยกครอบครัวออกไป สัตว์เลี้ยงจึงทำหน้าที่เติมเต็มความเปลี่ยวเหงานี้ได้อย่างพอดี ดร.ณปภัช สัจนวกุล มูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสถาบันวิจัยประชากรไทยและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดผลสำรวจว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นสังคมสูงวัยแล้ว คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตอนนี้มี 11 % และมี 7 ประเทศ ทั้งนี้ประเทศไทยและสิงคโปร์ถือว่าเข้มข้นที่สุด
.
และหมุดหมายสำคัญก็คือไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มขั้นในปี 2565 นี้ซึ่งผู้สูงวัยจะเทียบเท่าร้อยละ 20 คือ 1ใน5คนจะเป็นผู้สูงวัย และผลสำรวจยังชี้อีกว่าอีก 20 ปีข้างหน้าที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มจะเป็น 21 ล้านคน หรือจำนวนของประชากรวัย 40 ในปัจจุบันจะกลายเป็นคนชราและมีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สะท้อนความเปลี่ยวเหงาในยามเกษียณ และหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น
.
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เปิดเผยว่ามีคนชรากว่า1.3ล้านครัวเรือน ที่ใช้ชีวิตลำพัง และมีคนชราอีก 1.4ล้านครัวเรือนที่อาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่มีคนวัยอื่นเข้ามาพักอาศัยด้วย และอีก9.3ล้านครัวเรือนที่มีคนชราพักอาศัยร่วมด้วยกับสมาชิกครอบครัว เราจะเห็นถึงแนวโน้มของสังคมที่โดดเดี่ยวและแยกคนชราออกจากสมาชิกไป ดังนั้นความเปลี่ยวเหงาดังกล่าวโดนเติมเต็มด้วยสัตว์เลี้ยงที่อยู่เป็นเพื่อนและที่พึ่งทางใจให้กับคนชรามากขึ้น
.
หากมองในแง่ของเศรษฐกิจแล้ว การมีสัตว์เลี้ยงนั้นมีต้นทุนถูกกว่าการมีลูกในสังคมไทย ในผลวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลยังชี้อีกว่า ยังมีผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจนจำนวนมาก มากเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุรายได้น้อยเกินกว่า 5 ล้านคน ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่จะมีหรือไม่มีลูกในอนาคต
.
ผู้สูงวัยหลายๆคนนั้นอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาเบี้ยยังชีพคนชราซึ่งในปัจจุบันนั้นได้รับเฉลี่ยตามลำดับของอายุตั้งแต่ 600 บาทต่อเดือน ไปจนถึง 1,000 บาทต่อเดือน และถ้าหากมองจากสังคมปัจจุบันการที่หวังจะพึ่งพาลูกหลานในอนาคตนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างครอบครัวในสังคมเปลี่ยนไปแล้วอีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ลูกหลานเองก็ไม่สามารถดูแลผู้สูงวัยได้อย่างเต็มที่
.
ดังนั้นกรณี สัตว์เลี้ยงที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตของคนสูงวัยนั้นมองเพียงในแง่ของธุรกิจที่เกิดใหม่จากสัตว์เลี้ยงอาจจะไม่เพียงพอ ต้องมองไปให้ลึกกว่ายอดภูเขาน้ำแข็งว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังสะท้อนภาพสังคมสูงวัยในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างไร เผลอๆอีกไม่นานเราเองก็อาจจะกลายเป็นคนสูงวัยเองเสียแล้วก็เป็นได้
.
#CuriousPeople #สังคมสูงวัย #สัตว์เลี้ยง
.
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me