วัดใจ COVID-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” จะล้มเหลวหรือไม่อยู่ที่คนชรา-ประชากรข้ามชาติ
วัดใจ COVID-19 เป็น “โรคประจำถิ่น”
จะล้มเหลวหรือไม่อยู่ที่คนชรา-ประชากรข้ามชาติ
.
กรกฎาคมนี้ กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าให้ COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น หลังจากมีแนวโน้มที่สามารถจะควบคุมได้หลังการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่อาการต่าง ๆ ไม่ได้รุนแรงเท่าที่คิด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่สองและสามเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ยารักษาโรคเริ่มมีความพร้อมมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปต่อได้จึงเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ แต่จะให้ดีประชาชนเองก็ยังคงต้องระมัดระวังตัวเอง
.
แต่ก็ยังมีข้อเป็นห่วงเป็นใยจากประชาชน โดยเฉพาะสิทธิ์การเข้าถึงการรักษาพยาบาล จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ “สปสช.” ยกเลิกจ่ายค่าตรวจคัดกรอง-การเข้ารักษาโควิด โรงพยาบาลนอกระบบบัตรทอง เริ่ม 1 กรกฎาคม นี้ เรื่องนี้นั้น นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน และยืนยันว่าไม่มีการลอยแพผู้ป่วย COVID-19 แต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับแนวทางการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขโรค COVID-19 ให้หน่วยบริการเพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่นตามนโยบายรัฐบาล
.
โดยถ้าหลังจากนี้หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตังหรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากขึ้น 2 ขีดคือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียวเข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของกระทรวงสาธารณสุข หรือ โทรประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช. เพื่อรับยาตามโครงการเจอ แจกจบ ที่ร้านขายยาได้เช่นกัน
.
ในเรื่องกลุ่มเปราะบางที่น่าจับตาสองกลุ่มก็คือกลุ่มผู้สูงวัยหรือมีโรคความเสี่ยงสูงที่เรียกว่ากลุ่ม “608” และกลุ่มประชากรข้ามชาติ เพราะในปัจจุบันเริ่มกลับมามีผู้ติดเชื้ออีกครั้ง พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้กังวลผู้ป่วยหนักจากปอดอักเสบมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์ผู้ป่วยปอดอักเสบที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจตัวเลขสูงขึ้นไปอยู่ที่ 684 คนสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ส่วนผู้เสียชีวิตจาก เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 เส้นกราฟยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก
.
และถ้าหากสองกลุ่มดังกล่าวยังไม่เข้าถึงวัคซีนและสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง อาจจะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคลัสเตอร์ หรือมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากรับการรักษาอย่างไม่ทันท่วงที โดย สปสช. มองว่ากรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกันหากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอทมิทนอนโรงพยาบาล ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน
.
ส่วนในกลุ่มประชากรข้ามชาตินั้น สิ่งที่ต้องเร่งก็คือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนที่เพียงพอแล้ว โดยประชากรข้ามชาติไม่ได้นิยามเพียงแค่ผู้ใช้แรงงานต่างด้าว แต่จะต้องหมายถึงครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ ที่เป็นประชากรที่มาใช้ชีวิตในประเทศไทยด้วยถึงจะครอบคลุมนิยามทั้งหมด และเป็นฉีดวัคซีนแบบไม่เลือกปฏิบัติ ทั่วถึง และฉับไว
.
สองกลุ่มนี้จะเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญว่า นโยบายที่ประกาศ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” จะสามารถยั่งยืนได้หรือไม่?
.
#โรคประจำถิ่น #โควิด19
เเหล่งที่มา : https://www.facebook.com/curiouspeople.me