รักออกแบบไม่ได้ แต่ออกแบบเพื่อพื้นที่ “ความรัก”ให้เท่าเทียมได้ไหม

รักออกแบบไม่ได้ แต่ออกแบบเพื่อพื้นที่ “ความรัก”ให้เท่าเทียมได้ไหม

 

รักออกแบบไม่ได้ แต่ออกแบบเพื่อพื้นที่ “ความรัก”ให้เท่าเทียมได้ไหม
.
อยู่ในบรรยากาศของเดือนแห่งความรัก เพราะกุมภาพันธ์มี “วันวาเลนไทน์” ความรักนั้นเป็นสิ่งสวยงามและเปิดกว้างหลากหลาย ดั่งเพลง “บุพเพสันนิวาส” ที่ร้องไว้ว่า “รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา” กระแสโลกในปัจจุบันนั้นเป็นที่ยอมรับว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด มีเพศวิถีแบบไหนก็สามารถรักกันได้อย่างเท่าเทียม
.
แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่มักจะถูกมองว่าเป็นชายขอบของความรักนั่นคือ “กลุ่มคนพิการ” ในสังคม โดยบุคคลภายนอกอาจจะมองอคติว่า แค่การดำรงชีวิตให้ปรกติยังลำบากแล้วถ้าหากมีความรักนั้นจะไม่ลำบากหรือ? ถ้าหากพิการทั้งคู่แล้วลูกจะไม่ออกมาพิการหรือ? แม้กระทั่งกิจกรรมเพศสัมพันธ์นั้นจะสามารถตอบสนองความสุขความต้องการของอีกฝ่ายได้เหมือนคนปรกติหรือไม่?
.
ปัจจุบันคอนเซปต์เรื่อง Inclusive Society หรือสังคมสำหรับทุกคน เริ่มเป็นที่ตระหนัก สสส.เองเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ผลักดันแนวคิดดังกล่าวโดยนิยามว่าทุกคนต้องถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ตัดสินกันด้วยเงื่อนไขทางกายภาพและวิถีชีวิตที่แตกต่างต้องปราศจากการปิดกั้นและอคติ ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึงการดำรงชีวิต เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลือ ที่รัฐต้องจัดหาให้ ซึ่งความรักเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ออนไลน์หรือพื้นที่กายภาพดังนั้นทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ถูกนับ เราอยากให้คุณเปิดใจและเข้าใจคู่รักเหล่านี้ด้วยความเท่าเทียม และมองว่าทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคมเท่ากัน

ความสมบูรณ์ที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ ของ Miss Wheelchair Thailand

 

ความสมบูรณ์ที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ ของ Miss Wheelchair Thailand
.
เรื่องราวของ “จ๊ะจ๋า” จิณจุฑา จุ่นวาที อดีตรองอันดับ 2 Miss Wheelchair Thailand 2012 ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกทวิตเตอร์ เป็นภาพเธอสวมชุดครุยในรถวีลแชร์พร้อมแฟนหนุ่มทรี่สวมชุดครุยถ่ายรูปคู่กัน โดยแฟนหนุ่มนั้นมีอายุน้อยกว่าเธอ 2 ปี
.
พร้อมแคปชั่น “ก็คือวันนี้ไปกินข้าวกับเพื่อนแฟนมา แบบเพื่อนแฟนพูดมาว่า “มึงโชคดีมีแฟนเก่ง แฟนมึงดี” มันเป็นคำพูดธรรมดาที่เราจุกมาก เพราะปกติมีแต่คนบอกว่า เราโชคดีที่มีแฟนดี เพราะเราพิการ มีคนมาดูแล อันนี้ไม่ปฏิเสธเพราะเขาดีจริงๆ อีกมุมคือเราเป็นพิการ แต่เพื่อนแฟนบอกว่า แฟนเราโชคดี มันอุ่นใจจริงๆ”
.
ข้อความดังกล่าวถูกรีทวิตไปมากกว่า 1หมื่นครั้ง ท่ามกลางเสียงชื่นชมของโลกออนไลน์ ที่มองว่า “ความสมบูรณ์นั้นอาจจะเกิดจากความไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน” ทุกวันนี้ทั้งสองคนยังเคียงข้างกันโดยไม่ปล่อยมือ เราสามารถไปติดตามความน่ารักของทั้งคู่ได้ทาง อินสตราแกรม thejajah บางทีอาจจะได้แรงบันดาลใจและข้อคิดดีๆจากทั้งคู่ก็เป็นได้

“เพราะสื่อออนไลน์ทำให้เราได้เจอกัน” คุณโจ - คุณปุ้ม

 

“เพราะสื่อออนไลน์ทำให้เราได้เจอกัน” คุณโจ – คุณปุ้ม
.
คู่รักอีกคู่หนึ่งที่เป็นที่ประทับใจ เมื่อไปออกรายการCouple or Not? คู่ไหน…ใช่เลย ในปี 2563 คุณปุ้ม-อังคณา ชาญธัญการ พนักงานบริการส่วนงานมหาวิทยาลัย สาวพิการตั้งแต่กำเนิด คุณโจ-สุขสันต์ รามบุดดี อาชีพพนักงานบริษัท เคยป่วยเป็นโรคกระดูกทับเส้น และได้รับการผ่าตัด จนทำให้ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง เดินได้โดยการใช้ไม้เท้าช่วยพยุง ที่ดูแลกันและกันอย่างดี

.
ทั้งคู่พบรักกัน ในแฟนเพจ Facebook กลุ่ม คนพิการลันล้า โดย คุณปุ้ม เป็นแอดมินเพจ ส่วนด้าน คุณโจ เป็นสมาชิกในกลุ่ม ทั้งคู่ได้สื่อสารให้กำลังใจซึ่งกันและกันผ่านทางแฟนเพจ จนมีโอกาสได้เจอกัน และตกลงที่จะดูแลกันมาจนปัจจุบัน คุณปุ้มเองเคยแต่งงานมาก่อนและมีลูกติด 3 คน ซึ่งคุณโจก็สามารถเข้ากับครอบครัวของคุณปุ้มได้ดี จึงตัดสินใจมาอยู่ด้วยกัน
.
สิ่งสำคัญของคนพิการก็คือความเข้าใจและกำลังใจ ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลในการสื่อสาร ทำให้เกิดชุมชนที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆระหว่างกัน คนพิการและคนปกติก็ถือว่าพื้นที่ทางออนไลน์เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาได้เท่าเทียมและได้เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย แม้กระทั่งความรักเช่นกัน

คุณโบว์ - คุณแชมป์ “อยากให้พื้นที่ Universal Design มีมากกว่านี้เราจะได้ไปไหนด้วยกันได้”

 

คุณโบว์ – คุณแชมป์ “อยากให้พื้นที่ Universal Design มีมากกว่านี้เราจะได้ไปไหนด้วยกันได้”
.
โบว์ พรเพ็ญ เธียรไพศาล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิวายไอวาย และ แชมป์ ชโนภาส จันทร์จำรูญ ศิลปินงานโปรดักชั่น เป็นเพื่อนสมัยเด็กๆ ที่ย้อนกลับมาเป็นคู่กันในตอนโต หลังจากเมื่อสองปีกว่าประสบอุบัติเหตุทางถนน เมื่อขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปทำงานตอนเช้ามืดและถูกรถชน สำหรับโบว์ในฐานะคนทำงานประเด็นสังคมมองว่าสังคมไทยยังไม่ได้นับคนพิการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเธอยกตัวอย่างว่าการจะไปเจอกับแชมป์ในแต่ละครั้งแค่นึกจะออกจากบ้านก็ยากแล้ว เพราะบ้านของแชมป์อยู่คู้บอน แค่จะออกไปปากทางก็ลึกมากเพราะไม่มีถนนก็ไม่เอื้อต่อวีลแชร์ หรือพอมาถึงปากทางการที่จะต้องต่อขนส่งสาธารณะก็ไม่สะดวก ส่วนมากจึงต้องพึ่งพาคุณแม่ของแชมป์พามาส่งที่จุดนัดหมาย
.
โบว์เคยเดินทางไปต่างประเทศสิงคโปร์และไต้หวันพบว่า พื้นที่สาธารณะเขารองรับมากกว่า วีลแชร์สามารถขึ้นรถเมล์ได้ ไม่ต้องมีคนคอยดูแลประคอง เขามีทางลาดให้สำหรับขึ้นรถได้ แต่พื้นที่สาธารณะของไทยมีUniversal Designที่น้อยเกินไป และใช้ไม่ค่อยได้จริงและส่วนมากจะกระจุกใจกลางเมือง โดยเล่าว่าของไทยดูเป็นระบบการช่วยเหลือสังคมสงเคราะห์เช่นเมื่อจะออกไปชมภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าก็ต้องไหว้วานให้พนักงานเป็นคนช่วยยกวีลแชร์ขึ้นไป
.
เธอมองว่าความแตกต่างกันก็คือศักดิ์ศรีของคนพิการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เท่าเทียม สำหรับเธอไม่ได้สนใจคนภายนอกมองอย่างไรที่เลือกคบกับคนพิการเพราะเรามองว่าเขาเป็นคนเท่าเทียมกับเรา ในปัจจุบันแชมป์กำลังกายภาพ และฝังเข็มโดยคิดว่าถ้าหากพื้นที่ทางสังคมไทยมีความพร้อมกันมากกว่านี้ เราจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

.

เเหล่งที่มา     https://www.facebook.com/curiouspeople.me

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ