ฟังเสียง”ไรเดอร์” ข้อเสนอและความคาดหวัง กับอนาคตที่ไม่แน่นอน
ฟังเสียง”ไรเดอร์” ข้อเสนอและความคาดหวัง กับอนาคตที่ไม่แน่นอน
.
ในช่วงการระบาดของโควิดในสองปีที่ผ่านมา อาชีพหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นแนวหน้านอกจากแพทย์และพยาบาลแล้ว ก็คือกลุ่มแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่ส่งอาหารให้บ้านเรือนต่างๆ ตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” พวกเขาคือกลุ่มที่แบกความเสี่ยงแทนพวกเรา นั่นคือ “กลุ่มไรเดอร์” และดูจะมีทีท่าว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันจะเคยชินกับแพลทฟอร์ม Food Delivery กันเสียแล้ว
.
แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้เรามักจะได้ข่าวการชุมนุมหยุดงานของกลุ่มไรเดอร์ การรวมตัวยื่นข้อเรียกร้องให้กับผู้ให้บริการแพลทฟอร์มถึงสวัสดิการที่พวกเขาพึงได้รับ ถ้าหากนับจากต้นปีที่ผ่านมามีการชุมนุมของแรงงานไรเดอร์ทั้งในพื้นที่ นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น และถ้าหากย้อนไปปีที่ผ่านมาจะพบว่าไรเดอร์ทุกบริษัทนั้นออกมาชุมนุมเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร ?
.
หลักๆข้อเรียกร้องมักจะเป็นค่าตอบแทนที่ผู้ให้บริการแพลทฟอร์มมีการปรับอัตราส่วนอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดรายได้ที่ไม่แน่นอนต่อไรเดอร์ และเนื่องจากถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบตามแพลทฟอร์มออนไลน์ จึงไม่ได้มีสวัสดิการเรื่องประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงแลกกับค่ารอบที่มีอัตราส่วนที่น้อยลง และยังต้องแข่งขันกับไรเดอร์หน้าใหม่ที่เข้ามาสู่ระบบด้วย แล้วในต่างประเทศเขาดูแลเรื่องนี้กันอย่างไร?
.
ที่สหรัฐฯ นิวยอร์กออกกฎหมายใหม่กำหนดให้แอพฯ บริการส่งอาหารต้องมีสภาพการจ้างงานไรเดอร์หรือคนรับส่งอาหารที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน รวมถึงต้องกำหนดค่าแรงขั้นต่ำกับเหล่าไรเดอร์ เรื่องนี้ทำให้นิวยอร์กซิตีกลายเป็นสถานที่แรกที่ผ่านร่างกฎหมายแบบครอบคลุมในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมการส่งของที่เริ่มนำมาพิจารณามากขึ้นในช่วงที่มีเหตุโรคระบาดครั้งใหญ่
.
จากข้อมูลจากกฎหมายฉบับใหม่ในนิวยอร์กที่ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานส่งของเอาไว้ดังนี้ คือ ผู้ขับขี่รถส่งของสามารถจำกัดระยะทางการส่งของต่อครั้งได้, แอพพลิเคชั่นส่งอาหารไม่สามารถชาร์จคนส่งของสำหรับค่าแรงของพวกเขาเองได้ และจะต้องมีการจ่ายค่าจ้างส่งของให้กับคนทำงานส่งของอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์, คนขับรถส่งของสามารถเลือกได้ว่าจะไม่รับงานที่ต้องข้ามสะพานหรือลอดอุโมงค์, แอพฯ จะต้องจ่ายให้กับคนขับรถก่อนที่พวกเขาจะเริ่มการเดินทาง รวมถึงมีการให้ตำแหน่ง เส้นทาง และ ระยะทางกับเวลาที่จะใช้โดยประมาณแก่คนส่งของด้วย
.
ในประเทศไทยเองก็พยายามหาทางออกร่วมกัน เพราะบริษัทผู้ให้บริการแพลทฟอร์มเองก็แบกรับค่าใช้จ่ายเช่นกัน จากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ และสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน สรุปได้ในหลายประเด็นทั้ง การปรับสัญญาให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นระหว่างไรเดอร์และผู้ให้บริการแพลทฟอร์มโดยมีระยะเวลากำหนดในการแจ้งล่วงหน้าหากจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา และมีการกำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของงานที่เป็นธรรม (Fair work)
.
เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลทฟอร์มเพื่อสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต ควบคู่กับการให้ความรู้เท่าทันทางการเงินในการที่ไรเดอร์ก็จะสามารถบริหารรายได้และความเสี่ยงของพวกเขาเองได้ รวมไปถึงกำหนดให้มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเพิ่มเติมจากการกำหนดรายวัน และตัวกระทรวงแรงงานเองก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการปกป้องคนทำงานแพลทฟอร์มเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานนอกระบบอื่นๆเช่นกัน
.
ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะถูกกำกับด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลดิจิทัล (Digital Governance) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสของการเข้าถึงข้อมูลเพ่อให้ฝ่ายผู้ให้บริการแพลทฟอร์มและไรเดอร์ได้ถกเถียงกันบนข้อเท็จจริงตามข้อมูลที่เก็บไว้ เพื่อออกแบบการจ้างงานที่เหมาะสม นอกจากกระทรวงแรงงานแล้ว สสส. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรต้องเข้ามามีบทบาทในฐานะตัวกลางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าหากผู้ให้บริการแพลทฟอร์มสามารถอยู่ได้และเหล่าไรเดอร์อยู่ได้ ก็ถือว่าเป็นทางออกที่ วิน-วิน กับทั้งสองฝ่ายด้วย
.
#ไรเดอร์ #เดลิเวอรี่
.
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me