ประเทศไทย พร้อมแค่ไหนกับสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับ Universal Design
ประเทศไทย พร้อมแค่ไหนกับสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับ Universal Design
.
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Curious People ได้มีโอกาสนำเสนอคู่รักคนพิการต้อนรับช่วงวาเลนไทน์ จากบทสัมภาษณ์คู่คุณโบว์ – คุณแชมป์ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์พบว่าความไม่สะดวกอย่างหนึ่งก็คือ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของไทยไม่ได้ถูกออกแบบรองรับสำหรับคนพิการและคนสูงอายุ ยังไม่รวมเรื่องระบบขนส่งมวลชนต่างๆอีกด้วย และคุณโบว์ยกตัวอย่างว่าหากเทียบกับไต้หวันหรือสิงคโปร์ที่ไทย สถานที่ต่างๆนั้นรองรับคนพิการมากกว่านี้ ทำให้เกิดคำถามที่ว่า “สถานที่ท่องเที่ยวของไทยพร้อมแค่ไหนกับคนทุกกลุ่ม?”
.
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคอนเซปต์ Universal Design หรือ อารยะสถาปัตย์ เป็นหลักการออกแบบเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน โดยไม่มีขีดจำกัดทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนปกติ ผู้พิการ เป็นการทำให้ไม่มีอุปสรรค ในการใช้งาน และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นๆทุกวันเพราะประเทศไทยปี 2565 ก้าวเข้าสู่ปีแรกของสังคมสูงวัยเต็มขั้น
.
แนวคิดนั้นเกิดมานานกว่า 30 ปี โดยกฎหมาย The Americans with Disabilities Act (ADA) ของสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการใน พ.ศ.2534 และ พ.ศ.2548 และปัจจุบันได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญ โดยสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีรองรับได้แก่ ป้ายนำทางไปยังจุดบริการต่างๆ, ที่จอดรถ, ทางลาดและลิฟท์ ที่ตอบสนองต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ อาทิ ความกว้างของทางสัญจรให้พอกับเก้าอี้วีลแชร์ และ องศาทางลาดที่เหมาะสมกับเก้าอี้วีลแชร์ รวมถึงมีจุดบริการข้อมูลและหนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา
.
ความยากง่ายในการออกแบบนั้นมีความแตกต่างกัน โดยปกติหากเป้นสถานที่หรือพื้นที่สร้างใหม่ในยุค 3 – 5 ปีก่อนหน้านี้ก็จะมีการคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวในการออกแบบตั้งแต่ต้น แต่สิ่งที่ต้องใช้ความพยายามก็คือการปรับปรุงพื้นที่เดิมที่ถูกก่อสร้างในยุคสมัยก่อนหน้านี้ให้มีความพร้อมรับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครสร้างประชากร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ระบบขนส่งมวลชน หรือสถานที่ท่องเที่ยว
.
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์มีการจัดงาน Thailand Friendly Design Expo 2022 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 5 โดยมีการผลักดันวาระ “Tourism for All” โดยมีการเปิดตัว 20 จังหวัดนำร่อง การขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ครั้งแรกของประเทศไทย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีคิกออฟ “กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงเพื่อคนทั้งมวล”
.
ในงานดังกล่าวมีการแถลงว่ากทม.มีการพัฒนาทางด้านอารยสถาปัตย์อย่างต่อเนื่อง เช่น ทางเท้า หรืออาคารสถานที่ต่าง ๆ จะต้องมีทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ในส่วนของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสถานที่ต่าง ๆ สำหรับคนพิการ เช่น ลิฟต์ ห้องน้ำ ทางลาดทางเท้า แท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ
.
อีกทั้งยังมีการมอบรางวัลให้แก่สถานที่ท่องเที่ยว รางวัล Friendly Design Awards ประจำปี 2022 ประเภทวัดและศาสนสถานเพื่อคนทั้งมวล จำนวน 4 องค์กร ได้แก่ 1. วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม. 2. วัดถ้ำเขาย้อย จ.เพชรบุรี 3. วัดไร่แตงทอง จ.นครปฐม และ 4. วัดโคนอนมหาสวัสดิ์ จ.นนทบุรีและประเภทร้านอาหารเฟรนด์ลี่ดีไซน์ จำนวน 4 องค์กร ได้แก่ 1. The Chocolate Factory ปากช่อง จ.นครราชสีมา 2. ร้านอาหารบ้านสวนสาทร กทม. 3. ร้านอาหารครัวบางนา กทม. และ 4. ร้านอาหารมอเกน บางปู จ.สมุทรปราการ
.
ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดีในปี 2565 ที่การออกแบบเพื่อคนทุกคนจะกลายเป็นวาระแห่งชาติในปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ถึงแม้อาจจะเริ่มต้นช้าไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าที่จะไม่ได้ทำอะไรเลย
#UniversalDesign #สังคมสูงวัย
.
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me