“บ้านปลอดภัยไม่เสี่ยงล้ม” กับการปรับพื้นที่เพื่อรองรับคนทุกวัยภายในบ้าน
“บ้านปลอดภัยไม่เสี่ยงล้ม” กับการปรับพื้นที่เพื่อรองรับคนทุกวัยภายในบ้าน
.
ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทรายต้นไม้ใหญ่….บ้านนี้จะงามอย่างไรถ้าไม่มีเธอ เป็นส่วนหนึ่งของเพลง Home ที่แต่งโดย บอยด์ โกสิยพงษ์ และร้องโดยคุณ ธีร์ ไชยเดช ทุกท่านคงเคยได้ยินคำว่า “บ้านคือวิมานของเรา” แต่บ้านของเราเมื่อผ่านกาลเวลาไปก็มีการชำรุดทรุดโทรมจากลมฟ้าแสงแดดต่างที่พัดพาเข้ามา ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านก็เช่นกัน ที่ต้องผ่านกาลเวลาบางคนก้าวจากวัยหนุ่มสาวกลายเป็นวัยชรา บางคนที่เคยเป็นเด็กแบเบาะตอนนี้เติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของบ้าน
.
ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องดูแลรักษาทั้งบ้านและผู้อยู่อาศัยที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา โดยเฉพาะบ้านยุคเก่าส่วนมากถูกสร้างขึ้นเมื่อ 20-30 ปีก่อนนั้น คนที่เป็นวัยชราในวันนี้อาจเคยเป็นคนที่เป็นวัยแรงงานเมื่อครั้งอดีต ดังนั้นสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงไม่ได้รองรับสังคมสูงวัย และ Universal Design สำหรับที่พักพิงแห่งสุดท้ายของพวกเขา และด้วยความไม่สะดวกหลายๆอย่างในเชิงโครงสร้างอาจกลายเป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสียสมาชิกในครอบครัวได้
.
ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดงานเสวนาหัวข้อ “บ้านปลอดภัย ไม่เสี่ยงล้ม” ขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุภายในบ้านว่า จากสถิติปี 2559 – 2562 จำนวน 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่ต้องเข้ารับการบริการทางแพทย์ฉุกเฉิน เกิดจาก “การพลัดตกและหกล้ม” ตรงกับข้อมูลของกรมควบคุมโรคว่า การพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้สูงวัย และเฉลี่ยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มวันละ 3 คน
.
คำถามสำคัญในวงก็คือ “แล้วเราจะปรับบ้านอย่างไรดี?” มีข้อเสนอว่าควรปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านโดยคำนึงถึงทั้งสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ไม่ใช่การรื้อใหม่ทั้งหมดโดยคำนึงแค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่เป็นการปรับบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากครอบครัว ตามพฤติกรรมที่เคยชินของผู้สูงอายุเนื่องจากการปรับพฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องยาก
.
หลักการในการปรับปรุงบ้านจึงต้องเริ่มจากการปรับตัว นำไปสู่การปรับใจ แล้วจึงไปปรับสภาพแวดล้อม ในวงเสวนายังย้ำว่าอาจจะต้องเริ่มสำรวจบ้านเพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนว่าในบ้านจะต้องมีจุดใดที่ต้องปรับปรุงพื้นที่บ้าง การปรับบ้านไม่จำเป็นต้องทำพร้อม ๆ กันหลาย ๆ จุดแต่สามารถทยอยปรับได้ตามความเร่งด่วน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสได้ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง โดยทำควบคู่ไปกับการบริหารร่างกายและออกกำลังอย่างง่าย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อของผู้สูงวัยยังมีกำลัง ไม่ว่า จะเป็นการเดินเบา ๆ ยืนแกว่งแขน และการขยับข้อมือเช่นบีบลูกบอล เพื่อให้ประสาทสัมผัสได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง
.
ปัจจัยบ้านเสี่ยงล้มนั้นมีตั้งแต่ พื้นที่ลื่นหรือมีพรม การจัดวางของระเกะระกะภายในบ้าน สีที่ไม่ชัดเจนควรเลือกสีอ่อนและสีเข้มที่ทำให้ผู้สูงวัยสามารถแยกพื้นที่ต่าง ๆ ได้ชัดเจน ระบบแสงสว่างในบ้านที่ไม่เพียงพอ การเพิ่มพื้นที่พยุงตัวทั้งในห้องน้ำ ราวบันไดและเตียงนอน ระดับธรณีประตูที่สูงเกินกว่าจะสามารถก้าวข้ามได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงพื้นฐานที่ควรปรับปรุงภายในบ้าน บ้านแต่ละหลังอาจจะมีโจทย์แตกต่างกันไปปลีกย่อย ดังนั้นควรสำรวจก่อนที่จะปรับปรุงพื้นที่ทุกครั้ง
.
ข้อเสนอหนึ่งในวงเสวนากล่าวว่าในยุคปัจจุบันนอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องทางกายภาพในการใช้พื้นที่ของผู้สูงวัย อาจจะต้องคำนึงการระบาดของโควิด-19 ทั้งในส่วนของอากาศที่สามารถถ่ายเทได้สะดวก ระบบปรับอากาศที่สามารถกรองเชื้อได้ การแบ่งพื้นที่หากมีสมาชิกในบ้านติดเชื้อโควิด และการแก้ไขจุดอับที่เป็นโอกาสจับตัวของเชื้อไวรัสได้ง่ายภายในบ้านด้วย ข้อคำนึงทั้งหมดนั้นไม่อยากให้เป็นกังวลแต่ควรตระหนักรู้ เพราะความสุขของคนในบ้านเป็นเรื่องสำคัญ
.
อย่างที่บอกไว้ว่า “บ้านนี้จะงามอย่างไรถ้าไม่มีเธอ”
.
#สังคมสูงวัย #บ้านปลอดภัยไม่เสี่ยงล้ม
.
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me