กระบวนการ “ข่มขืนซ้ำ” โดยสื่อและเจ้าหน้าที่ ทำเหยื่อไม่กล้าแจ้งความ

กระบวนการ “ข่มขืนซ้ำ” โดยสื่อและเจ้าหน้าที่ ทำเหยื่อไม่กล้าแจ้งความ

กระบวนการ “ข่มขืนซ้ำ” โดยสื่อและเจ้าหน้าที่ ทำเหยื่อไม่กล้าแจ้งความ

.
ยุคสมัยใหม่การสื่อสารนั้นแข่งขันกันด้วยความเร็วเพื่อเอาไปแลกกับเรตติ้ง ที่จะผกผันกับรายได้ แต่หลาย ๆ ครั้งการที่มุ่งแต่จะแข่งขัน กลับไปกระทบกับ “ความเป็นส่วนตัว” ของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในคดีล่วงละเมิดทางเพศ หรือการข่มขืน ในหลายครั้ง กลายเป็นการสร้างตราบาป (Stigmata) ให้กับเหยื่อ เพื่อแลกกับเรตติ้ง โดยไม่ได้สนใจชีวิตของเหยื่อหลังจากนั้น ซึ่งหลาย ๆ ครั้งแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลกับสื่อกลายเป็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่ควรเก็บความเป็นส่วนตัวของเหยื่อ
.
“การข่มขืนซ้ำ” ทางกระบวนการสืบสวน Post Today เคยนำเสนอกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ มีบทสัมภาษณ์ของเหยื่อข่มขืนรายหนึ่งพูดถึงกระบวนการสืบความอันกลายเป็นตราบาปในชีวิตเธอว่า “ความรู้สึกของขวัญ (ชื่อเหยื่อ) ตอนที่อยู่ในศาล เหมือนถูกข่มขืนอีกครั้งกลางศาล คำถามแต่ละคำที่ทนายความจำเลยถาม มันทำร้ายจิตใจ ดูถูกคุณค่าความเป็นลูกผู้หญิง และความเป็นมนุษย์ เช่นถามว่า อวัยวะเพศของคนที่ทำมันใหญ่เท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ คำถามพวกนี้มันทำร้ายจิตใจมาก น่าจะมีการกลั่นกรอง หรือทำอะไรสักอย่างให้ผู้หญิงรู้สึกดีขึ้น”
.
ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นถูกนำเสนอออกผ่านหน้าสื่อ และเหยื่อรายนั้นบอกว่าเมื่อเรื่องกลายเป็นสาธารณะเป็นที่อับอาย ทำให้เหยื่อรายอื่น ๆ ไม่กล้าที่จะเข้าแจ้งความ อีกมิติก็คืออคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจชายในการทำคดีข่มขืน ในกรณีเดียวกันนี้มูลนิธิเพื่อนหญิงที่รับผิดชอบในการแจ้งความเล่าในรายงานว่า “ปัญหาสำคัญอยู่ที่ตำรวจไม่รับแจ้ง อ้างแต่ว่าไม่ใช่พื้นที่ของตัวเอง อีกปัญหาหนึ่งก็คือ คดีล่วงละเมิดทางเพศ หรือคดีที่เป็นคดีข่มขืนทุกคดี มีปัญหาเหมือนกันหมดคือ เจ้าหน้าที่มักจะ ‘ตั้งแง่’ กับผู้เสียหาย ว่าเป็นการข่มขืนจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน บุคลากรบางคนในกระบวนการยุติธรรมยังมีอคติกับผู้หญิง ทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
.
ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UNWOMEN) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับคดีข่มขืนในประเทศไทยเมื่อปี 2560 ว่ามีกระบวนการพยายาม “ล้มคดี” “ตำรวจอาจไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอในการบันทึก และเมื่อผลการตรวจสอบไม่พบร่องรอยการข่มขืน เจ้าหน้าที่ทางนิติวิทยาศาสตร์ก็มักจะบอกว่า กรณีนั้นไม่เหมาะในการดำเนินคดีต่อ” แอนนา-คาริน จัตฟอร์ส รองผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทย
.
ไม่เพียงเท่านั้นตัวแทน UNWOMEN ยังให้ข้อมูลว่าการบันทึกข้อมูลระหว่างตำรวจและอัยการไม่ประสานงานกัน เหยื่อต้องพูดคุยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้พวกเธอเจ็บปวดมากขึ้น บางรายมีระยะเวลาในการยืดคดีที่ยาวนาน เรื่องที่เล่าจากปากคำของผู้เสียหายอาจแตกต่างออกไป หรือเมื่อต้องเจอคำถามที่ต่างออกไป อาจทำให้เรื่องที่เหยื่อเล่ากลายเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือได้ อีกทั้งยังมีกระบวนการตำหนิเหยื่อ (Victim Blaming) ว่ามีส่วนดึงดูดให้กับผู้ก่อเหตุลงมือ โดยผ่านการแต่งตัวล่อแหลม หรือว่าดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
.
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนก็คือการขาดแคลน “เจ้าหน้าที่หญิง” ในคดีข่มขืนในกระบวนการ ตั้งแต่พนักงานสอบสวนหญิง อัยการ และนักสังคมสงเคราะห์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเหยื่อ ให้อยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่ย่ำแย่ การเข้าใจเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งมายาคติที่ “โทษเหยื่อ” นั้นควรจะหมดไป เพราะไม่ว่าเหยื่อจะแต่งตัวอย่างไร จะดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ก็ไม่ได้เป็นข้ออ้างสำหรับการก่ออาชญากรรมทางเพศแต่อย่างใด
.
#ข่มขืน   #กระบวนการยุติธรรม

 

เเหล่งที่มา   https://www.facebook.com/curiouspeople.me

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ