ผู้หญิง-LGBT หางานยากกว่าผู้ชายจริงไหม ?
ผู้หญิง-LGBT หางานยากกว่าผู้ชายจริงไหม ?
.
“งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” เป็นคำขวัญที่ถูกใช้ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเชื่อมโยงว่าคนเรานั้นมจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อได้ทำงาน และสร้างผลผลิตให้กับสังคม อีกทั้งงานเองก็เป็นตัวก่อให้เกิดรายได้ในการเลี้ยงดูและสร้างฐานะให้กับตัวเอง ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คนจึงเริ่มหันหน้าเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ
.
แต่ในความเป็นจริงแล้วในตลาดแรงงานนั้นไม่ได้มีตำแหน่งรองรับสำหรับทุกคน และที่มีปัญหาก็คืองานบางอย่างนั้นถูกกีดกันด้วยกำแพงของเพศศภาพตามกำเนิดและเพศวิถี ทำให้ไม่สามารถเข้าสถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม และเมื่อไม่สามารถสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเอง ย่อมทำให้เกิดวงจรของหนี้สินอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ถึงแม้ยุคปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ จะออกมาสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแต่กลับพบว่าหลาย ๆ แห่งยังมีการกีดกันในการจ้างงานระบุเพศ
.
ผลวิจัยปี 2561 ในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย” โดยธนาคารโลกที่ทำการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีข้อมูลการเลือกปฏิบัติทางเพศที่น่าสนใจ 77 เปอร์เซ็นต์ของคนข้ามเพศ ถูกปฏิเสธงานเหตุเพราะตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ อีก 22.7 เปอร์เซ็นต์ของเกย์ที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งงานเพราะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ24 เปอร์เซ็นต์ของเกย์และเลสเบี้ยนที่ตอบแบบสอบถาม บอกว่า ถูกห้ามไม่ให้เปิดเผยตัวตนในที่ทำงาน
.
ถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านไป 4 ปี แต่กระบวนการสรรหาคนเข้าทำงานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ถึงแม้ว่าคุณจะมีศักยภาพ กรณีตัวอย่างหนึ่งที่เคยถูกนำเสนอผ่านสื่อก็คือ คุณโกโก้-กวินตรา เทียมไสย์ ผู้หญิงข้ามเพศผู้เป็นนักวิจัยนโยบายให้กับองค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งจบปริญญาโทการศึกษาด้าน Gender Studies จากมหาวิทยาลัยชื่อดังจากสหราชอาณาจักร ด้วยทุนรัฐบาลอังกฤษ แต่เมื่อเรียนจบใหม่ เธอสมัครงานไปมากกว่า 200 แห่ง แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะบริษัทส่วนหนึ่งมีนโยบายไม่รับคนหลากหลายทางเพศเข้าทำงาน
.
ถ้าหากไปดูนิยามขององค์กรแรงงานโลก หรือ ILO จะพบว่า “การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและการประกอบอาชีพหมายถึงการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างแตกต่างกันและด้อยกว่ากัน อันเนื่องจากลักษณะที่ไม่สัมพันธ์กับหลักคุณธรรมหรือเงื่อนไขของงาน ลักษณะเหล่านี้ ได้แก่ ชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง การกีดกันทางเชื้อชาติและพื้นเพเดิมทางสังคม” ซึ่งในความเป็นจริงในหลาย ๆหน่วยงานยังไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้
.
อีกประเด็นหนึ่งที่พบก็คือถึงแม้หลายครั้งจะมีการจ้างงานเกิดขึ้น แต่ก็ยังมี “กำแพงค่าตอบแทน” ที่กีดกันให้ผู้ชาย ผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ค่าแรงที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่บางบริษัทมองว่าอ่อนแอกว่า และมีโอกาสลาหยุดตามโอกาสต่าง ๆ เช่น การลาคลอดหรือลาป่วยมากกว่า ดังนั้น จึงใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการเลือกปฏิบัติในการกำหนดค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกัน
.
ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) มีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ในประเทศไทยถือว่าอยู่ในค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าตลาดแรงงานไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีการทำงานในอาชีพที่มั่นคงและมีระดับรายได้สูงขึ้น โดยจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในกลุ่มงานวิชาชีพและเกี่ยวข้อง (professional jobs and related) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 35 ในช่วงปี 1985–1995 เป็นร้อยละ 51 ในช่วงปี 2007–2017 แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านการประกอบอาชีพของแรงงานหญิงไทยในช่วงไม่นานมานี้ แต่ก็ยังมีกำแพงที่จะต้องทลายเพื่อความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติอยู่เช่นกัน
.
#การจ้างงาน #ความเท่าเทียมทางเพศ #นับเราด้วยคน #ประชากรกลุ่มเฉพาะ
เเหล่งที่มา : Curious People | Facebook