เป็นเพื่อนบ้าน เป็นพี่เลี้ยง เป็นคนดูแล เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว นี่คือ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)’ กลุ่มคนที่ทำงานเพราะอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี
“ขาดเธอไม่ได้ หัวใจขอสารภาพ”
ท่อนหนึ่งจากเพลงใจสารภาพที่ถูกนำมาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานด้านสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) โดย รังสิมันต์ ทองสวัสดิ์ หรือชื่อที่คนอำเภอสังขละบุรีมักจะเรียกกันก็คือ พี่ปื้ด สาธารณสุขประจำอำเภอสังขละบุรี
อสต. ถือเป็นแขนขาของการให้บริการสาธารณสุข ทำให้คนสังขละบุรีเข้าถึงความรู้ดูแลตัวเอง และบริการสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเข้าถึงสุขภาวะที่ดีไม่ได้ครอบคลุมแค่คนไทย แต่ครอบคลุมคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอนี้ทุกคน
อำเภอสังขละบุรีเป็นอำเภอที่ติดกับพม่า มีคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และคนพม่าเองที่เข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก พวกเขาเข้ามาทำงานและตั้งรกรากหมู่บ้านเล็กๆ กระจายตัวเต็มอำเภอ
หลังจากทำงานสาธารณสุขมาย่าง 34 ปี พี่ปื้ดมองว่า กลุ่มชาติพันธุ์กับประชากรข้ามชาติมักจะเผชิญกับอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพเยอะมาก การสื่อสารเป็นเหตุผลหลัก ยิ่งพวกเขาอยู่ในกลุ่มแรงงานรายได้น้อย การป่วยครั้งหนึ่งก็สร้างปัญหาให้กับพวกเขา
“ในทางกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์กับประชากรข้ามชาติจะเข้าถึงสิทธิ์ยาก ถ้ากลุ่มชาติพันธุ์กับประชากรข้ามชาติป่วยที ส่วนมากเลือกที่จะดิ้นรนรักษาเอง ซื้อยากินเอง หรือเข้าคลินิกที่ถูกต้อง บางคนเลือกเข้าคลินิกเถื่อนตามชายแดน”
“ที่สาธารณสุขสังขละบุรี เราจะให้รักษาก่อนแล้วค่อยเก็บค่าบริการ เพราะเราอยากให้เขามีสุขภาพที่ดีเหมือนคนอื่น”
นอกจากการรักษาสุขภาพที่ต้องถูกผลักดันให้คนทุกคนเข้าถึงแล้ว อสต. ถือเป็นหน่วยรบหนึ่งที่ลงไปให้ความรู้ด้านสิทธิต่างๆ และความรู้ด้านสุขภาพ การเข้าถึงบริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อมีความเข้าใจเรื่องสุขภาวะแล้ว สุขภาพที่ดีก็จะตามมา อสต. คอยอยู่เคียงข้างกับคนชาติพันธุ์กับประชากรข้ามชาติในยามที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองได้ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการไปหาหมอ เพราะพวกเขาก็จะได้รู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอีกด้วย
เนื่องจากวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี คือ วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ พวกเขาต่างทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนไม่แพ้บุคลากรโรงพยาบาล เราอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอสต. ผ่านการทำงานในสังขละบุรี
คนบ้านเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน เหตุผลที่ทำให้อสต. เกิดขึ้นมา
หน้าที่หลักๆ ของอสต. คือ การให้ความรู้สิทธิและสุขภาพเบื้องต้น เช่น แนะนำเรื่องการใช้ยาสามัญประจำบ้าน หรือการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเมื่อพบเจออาการป่วยต่างๆ ฯลฯ สื่อสารข้อมูลด้านบริการสุขภาพไปยังแต่ละชุมชนในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์กับประชากรข้ามชาติในยามที่พวกเขาต้องการ
เราถามพี่ปื้ดว่า ทำไมต้องมีอสต.เพราะเราก็มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว
“เราว่าการดูแลคน 2 กลุ่มนี้ ต้องการคนที่สื่อสารกันรู้เรื่อง และเขาค่อนข้างที่จะไว้ใจ เพราะว่าขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาวัฒนธรรม แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปสื่อสารเรื่องสุขภาพหรือชี้แจงบริการของรัฐ ก็ต้องมีกลุ่มที่เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาเดียวกันกับเขา”
ก่อนที่อสต. จะให้ความรู้ได้ พวกเขาก็ต้องผ่านการอบรมมาก่อน ที่สาธารณสุขประจำอำเภอสังขละบุรีจะมีการจัดอบรมอสต. เสมอ โดยเฉพาะในช่วงนั้นเกิดการระบาดของโรคอะไร การรับมือต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้พวกเขาไปได้บอกต่อประชนได้และป้องกันไว้ก่อนที่โรคจะแพร่กระจายวงใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรคเอดส์ โรคอหิวาต์ โรคติดต่อตามทางเดินอาหารและน้ำ หรือล่าสุดก็คือโควิด 19
“อย่างยุคที่โควิดสายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาด ถ้าเรารู้ตัวหรือป้องกันช้า มีโอกาสคนเสียชีวิตจำนวนมากเลยนะ แต่โชคดีที่มีอสต. เข้ามาทำหน้าที่นี้ ที่นี่เราป้องกันให้กลุ่มประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ได้เยอะมาก ถ้าเทียบกันที่อื่น แถมเราก็ลดวิกฤติการตายด้วยโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออกไปได้เยอะเลย นี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนประทับใจ”
ถ้าไม่มีอสต. การดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงก็คงไม่เกิดขึ้น คนกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติมีทั้งภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนไทยในพื้นที่ ทำให้บางทีเขาอาจจะถูกปฏิบัติราวกับว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง พวกเขาไม่ถูกมองเห็นและยอมรับ จนพวกเขาอาจคอยจำกัดว่าตัวเองต้องใช้ชีวิตแบบนี้ตลอดไป
แต่อสต. เข้ามาสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสาธารณสุขไทยกับคนชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ผ่านการสื่อสารด้านสุขภาพ เข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อระบบดี คนสุขภาพดี ก็ส่งผลให้เรื่องอื่นดีไปด้วย อย่างเช่นเศรษฐกิจนั้นเอง
“กลุ่มชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติเป็นแรงงานสำคัญที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของเรา เรามีสิ่งที่ต้องพึ่งพาเขา เพราะฉะนั้นก็ต้องสื่อสารให้ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติและคนอื่นๆ เห็นว่า ผลกระทบมันยิ่งใหญ่นะ ถ้าคนกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรเจ็บป่วย และเมื่อแรงงานรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นที่ที่ปลอดภัย เขาก็สุขใจ เมื่ออยู่ในประเทศเรา”
“พอเห็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือประชากรข้ามชาติมารักษาในโรงพยาบาล บางคนก็จะคิดว่า ถ้าไม่มีพวกเขาน่าจะดี เราจะได้ตรวจก่อน แต่เขาลืมคิดไปหรือเปล่าว่า ถ้าไปอยู่ต่างประเทศเขาเป็นต่างถิ่นที่คนอื่นมาคิดแบบนี้ด้วยเหมือนกัน”
แต่ท้ายที่สุด ไม่ใช่เพราะกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติเป็นแรงงาน พวกเขาจึงควรได้เข้าถึงโอกาสต่างๆ แต่เพราะพวกเขาเป็น ‘คน’ เหมือนกับคนไทยคนอื่นต่างหาก ‘มนุษยธรรม’ จึงเป็นสิ่งที่พี่ปื้ดและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคนอื่นๆ ยึดถือร่วมกันตลอดมา
อสต. เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่ดูแลกันและกัน
“เมื่อก่อนชาวบ้านเชื่อว่าฉีดวัคซีนทำให้ตาย”
‘โยวิน’ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ในอำเภอสังขละบุรีกล่าว การเป็นอาสาสมัครไม่ใช่ว่าจะเป็นกันง่ายๆ นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านสุขภาพแล้ว ยังจะต้องมีวิธีสื่อสารกับคนอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจ ถึงแม้โยวินจะเป็นชาวมอญเหมือนกับคนอื่นๆ ในชุมชนที่เขาทำหน้าที่อสต.ดูแล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนเคลือบแคลง หรือไม่เชื่อข้อมูลที่โยวินบอก เป็นอุปสรรคที่จะทำให้คนในชุมชนโยวินดูแลสุขภาพตัวเองได้
“เมื่อก่อนเขาไม่ยอมรับเราเท่าไหร่ ต่อให้เราอยู่ที่นี่มานาน คนรู้จักทั้งหมู่บ้านเลยนะ แต่เวลาที่เราเข้าไปขอข้อมูลอย่างเกิดวันไหน อายุเท่าไหร่ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เขาก็จะกลัวว่าเราจะเอาข้อมูลไปทำอะไรหรือเปล่า แต่เราเอาไปเพื่อจดบันทึกข้อมูลรายคนและเฝ้าดูอาการตามโรคประจำตัวเขา”
ตื้อเท่านั้นที่จะครองโลก โยวินก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่อสต. และให้ความรู้กับชาวบ้านต่อ ถึงแม้จะมีคนกลัวอยู่บ้าง แต่เขาเชื่อว่าสักวันชาวบ้านจะเข้าใจสิ่งที่เขากำลังทำ โยวินพยายามสื่อสารด้วยภาษาและวัฒนธรรมของคนในชุมชน เป็นตัวอย่างให้ทุกคนเห็นว่าการมีสุขภาพที่ดีมีประโยชน์อย่างไร และแล้วความเชื่อของโยวินก็เป็นจริงอีกประมาณ 6 เดือนถัดไป
“เราก็เข้าร่วมกิจกรรมในหมู่บ้านบ่อยๆ แล้วก็คอยทำให้เขาเห็นว่าการดูแลสุขภาพมันดียังไง และเราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง เราคอยให้ความรู้เรื่องโรค เช่น ไข้เลือดออก มีแจกถุงยังชีพไปกระจายช่วงโควิดด้วย เขาเรียกเราว่า ‘หมอความดัน’ เพราะถ้าเจอเรา เราจะวัดความดันให้ก่อนเลย”
โยวินเป็นทั้งพ่อ เป็นคนขายผัก และเป็นอสต. ตารางงานในแต่ละวันของเขาเลยค่อนข้างแน่น แต่โยวินก็ยังแบ่งเวลาได้ดี ในช่วงแรก ‘บี’ ภรรยาของโยวิน ก็สงสัยเหมือนคนอื่นๆ ว่า สามีของเธอทำอะไร แต่เธอก็ยื่นมือเขามาช่วย บางทีถ้าโยวินไม่อยู่เขาก็จะฝากชาวบ้านว่า ให้เดินมาหาบีได้เลยถ้าเกิดเป็นอะไร ครอบครัวนี้จึงเป็นครอบครัวที่คนในชุมชนให้ความไว้วางใจ
“ปกติเราก็ช่วยดูแลทั่วไป เช่น วัดความดันไข้ มีไปให้ความรู้ด้วย อีกอย่างคือเราต้องเป็นตัวอย่างให้ทุกคนเห็นด้วยว่า เราดูแลสุขภาพจริงๆ เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นๆ เวลาเขามาถามเราจะได้ตอบได้ อย่างบุหรี่ที่มันไม่ดีต่อสุขภาพ เราก็ไม่สูบเลย”
ถึงแม้จะเหนื่อยแต่โยวินกับบีก็ยังอยากทำงานนี้ต่อ เพราะ ‘รอยยิ้ม’ ที่ได้รับจากชาวบ้านมันทำให้เขามีแรงทำงานอสต. อยู่เรื่อยๆ อีกทั้งการได้สร้างอนาคตให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ก็มีความหมายกับเขามาก
“ผมเจอมาหลายเคสที่ไม่มีบัตรประชาชน พอไม่มีเขาก็เบิกค่ารักษาอะไรไม่ได้ เวลาเขาจะไปหาหมอทีหนึ่งก็ต้องเสียเงินไปหลายบาท หรืออย่างเด็กบางคนไม่มีใบเกิด เราก็ช่วยพาพ่อแม่เขาไปทำใบเกิดได้ ให้ความรู้เขาเรื่องการดูแลลูกต่อ พ่อแม่ก็ดีใจ เด็กก็จะได้มีอนาคตต่อไป”
นอกจากจะดูแลสุขภาพแล้ว การสนับสนุนให้คนเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญที่อสต. ทำ อย่างกรณีของเด็กที่ไม่มีใบเกิด พวกเขาจะไม่สามารถเข้ารับสวัสดิการสำหรับเด็กแรกเกิดได้เลยถ้าหากขาดใบเกิดไป อสต. เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ตั้งตาลืมตาดูโลก
บ้านโยวินและอสต. คนอื่นๆ เป็นเหมือนศูนย์อนามัยขนาดย่อมที่คนในชุมชนไว้ใจและวิ่งเข้าหาทันทียามฉุกเฉิน เขาเล่าว่า เคยมีเหตุการณ์ที่เพื่อนบ้านต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีเนื่องจากเป็นโรคหอบหืด หลังจากได้ยินเสียงตะโกนเรียก โยวินก็รีบมาที่บ้านหลังนี้ทันที จากนั้นจัดการวัดความดันปละปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งโยวินเองก็เป็นคนที่พาคนๆ นี้ไปโรงพยาบาลและพากลับโดยปลอดภัย
แค่ไม่กี่นาทีก็เปลี่ยนชีวิตได้ ถ้าหากเพื่อนบ้านไม่ได้เจออสต. ละแวกใกล้เคียงอย่างโยวิน ก็คงต้องเจอสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านี้
เพราะสุขภาพที่ดี ทุกคนต้องเข้าถึงได้
“เดี๋ยวนี้ออกไปตักบาตรได้แล้ว เมื่อก่อนไปไม่ได้เลย”
กิจกรรมที่คนสูงวัยอย่าง ‘ยายปาย’ (นามสมมุติ) ชอบทำ แต่ด้วยร่างกายที่ร่วงโรยตามอายุและโรคประจำตัว ทำให้ยายปายไม่สามารถกลับไปตักบาตรได้เหมือนแต่ก่อน กิจกรรมโปรดของเธอจึงจำเป็นต้องหยุดพักไป
ยายปายอาศัยอยู่กับสามี ส่วนลูกของเธอไปทำงานในเมือง เรียกได้ว่าบ้านหลังนี้มีแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งทั้งคู่ก็ต่างต้องการการดูแลบางอย่างในยามที่เจ็บป่วย โชคดีที่บ้านของยายปายอยู่ห่างจากโยวินเพียงไม่กี่หลัง ทำให้เวลาที่เธอต้องการความช่วยเหลือ เธอก็สามารถเรียกหาโยวินได้
“เมื่อก่อนเวลาเป็นอะไร เราก็ไม่รู้จะถามใคร แต่พอมีอสต. เข้าบ้าน เรารู้เลยว่าถ้าเราป่วยให้เดินไปหาที่บ้านของคนนี้ ไปเล่าให้เขาฟัง แล้วเขาก็จะช่วยเราเอง” ยายปายกล่าว
ในหมู่บ้านนี้ไม่ได้มีแค่โยวินที่เป็นอสต. อยู่คนเดียว ยังมีคนอื่นๆ เนื่องจากอสต. 1 คน ต้องคอยดูแล 100 ครัวเรือน แต่ละคนก็จะมีข้อมูลของบ้านที่ดูแลเป็นเฉพาะแตกต่างกันไป แต่ถ้าในทางปฏิบัติจริงๆ ทุกคนก็จะช่วยเหลือกัน ใครอยู่บ้านใกล้คนไหนก็คอยสอดส่องดูแลคนนั้นๆ
‘สา’ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวอีกคนหนึ่ง บอกว่า อสต. เป็นเหมือนหน่วยเบื้องต้นที่ไปคัดกรองคนในหมู่บ้านก่อนที่จะไปหาหมอ เพราะบางทีอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นอาจสามารถรักษาเบื้องต้น นอนพักผ่อน หรือแค่ทานยาก็หายได้แล้ว ถ้าทุกคนตรงไปที่โรงพยาบาลทันทีที่เกิดอาการเจ็บป่วย ปริมาณบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาจไม่เพียงต่อความต้องการ ทำให้เกิดความล่าช้าในการรักษาได้
ก่อนจากกันไป พี่ปื้ดบอกกับเราว่า ความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (Health Literacy) เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะสามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขในยุคนี้ได้ อสต. คือตัวกลางที่จะนำความรู้พวกนี้ไปเผยแพร่ให้กับคนชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติได้มากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญทุกหน่วยทั้งองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ก็ต้องเห็นความสำคัญของการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติด้วย กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรหนึ่งที่ผลักดันให้พวกเขามีสุขภาวะที่ดีและเข้าถึงทุกบริการอย่างเท่าเทียม
“ทุกคนในแผ่นดินนี้ควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทุกคนควรได้รับความรู้ด้านสุขภาพเพื่อที่เขาจะป้องกันตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บได้” พี่ปื้ดทิ้งท้าย