#เมนส์มาลาได้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานหญิงในภาคเหนือ เพราะการเป็นประจำเดือนไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ลาพัก

ปวดท้อง ไข้ขึ้น อาเจียน… อาการที่หลายคนเจอเมื่อมีประจำเดือน ไม่นับรวมกับอารมณ์ที่ช่วงนั้นเราอาจกลายเป็นคนขี้โมโหง่าย หรืออ่อนไหวร้องไห้ให้กับทุกๆ เรื่องที่เข้ามา ช่วงเวลาเป็นประจำเดือนหรือเมนส์ เลยไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีเท่าไรสำหรับบางคน แม้จะเป็นไปตามวงจรร่างกายก็ตาม

หลายๆ ประเทศได้ออกกฎหมายให้คนมีประจำเดือนสามารถลางานได้เมื่อถึงรอบการเป็น เช่น ที่ญี่ปุ่นมีกฎหมายชื่อว่า Seirikyuuka-Physiological Leave ออกมาตั้งแต่ปี 1947 อนุญาตให้แรงงานหญิงลางานเมื่อมีประจำเดือนได้ ที่อินโดนีเซียลาด้วยเหตุผลประจำเดือนได้เดือนละ 2 วัน เป็นต้น มีบางประเทศที่อนุญาตให้ลาได้จะไม่ระบุว่า ลาเพราะประจำเดือนโดยตรง แต่สามารถใช้สิทธิ์ลาเรื่องนี้ 

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ แม้กฏหมายจะให้สิทธิ์ลาได้ แต่คนเลือกลาน้อยมาก ที่ญี่ปุ่นจากการสำรวจในปี 2017 พบว่ามีเพียง 0.9% เท่านั้นที่ขอลาเพราะปวดประจำเดือน

ในประเทศไทยเองกำลังมีความพยายามจากภาคประชาชนผลักดันเรื่องนี้ อย่างกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม ยิน คิดสัน ตัวแทนกลุ่มเล่าให้เราฟังว่า #เมนส์มาลาได้ กำลังเป็นข้อเรียกร้องที่กลุ่มผลักดันอยู่ ให้คนมีเมนส์ทุกคนสามารถลาหยุดได้

กลุ่มคนงานหญิงฯ เป็นการรวมของแรงงานหญิงในภาคเหนือทั้งไทยและข้ามชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

และเนื่องในวันสตรีสากล เราชวนยินมาคุยถึงการผลักดันครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในโลกการทำงาน ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมและรักษาสิทธิ์ของแรงงานทุกคน ให้เข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เพราะเมื่อเมนส์มาถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่ร่างกายอ่อนแอ 

“ตอนที่อายุ 15-16 ปี พี่เป็นหนักมาก หน้าซีดเป็นลมเลย มันลุกไม่ได้จริงๆ แล้วก็อาเจียนตลอด ต้องกินยาถึงจะช่วย”

ยินแชร์ประสบการณ์ตอนที่ประจำเดือนมาให้ฟังว่า ส่งผลกระทบกับชีวิตของเธออย่างไร โดยเฉพาะตอนทำงาน ยินทำอาชีพแม่บ้านมาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ที่เธอย้ายจากประเทศบ้านเกิดพม่า เข้ามาทำงานในไทย งานของยินต้องอาศัยแรงกายเป็นหลัก งานทำความสะอาดอาศัยการเคลื่อนไหวค่อนข้างเยอะ ทำให้เวลาที่เมนส์มาถือว่าเป็นช่วงยากสำหรับยินที่จะทำงาน ไม่นับรวมอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นตอนเป็นเมนส์ ถ้าเป็นไปได้ยินเลือกที่จะลาตลอด

เป็นความโชคดีของยินที่ผ่านมาเจอนายจ้างเข้าใจเรื่องนี้ และอนุญาตให้เธอลาได้ แม้ตอนนี้ยินจะตัดสินใจรับงานทำความสะอาดจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ทำประจำที่บ้านหลังใดหลังหนึ่ง ทำให้ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการลา แต่ยังมีลูกจ้างทำงานบ้าน หรือแรงงานคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถลางานได้อย่างยิน

‘ค่าจ้าง’ เป็นคำตอบ การลาหยุดครั้งหนึ่งอาจทำให้นายจ้างงดจ่ายเงินพวกเขา หลายคนเลือกที่จะมาทำงานแม้จะป่วยก็ตาม

“มันเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว พี่น้องเราไม่กล้าพูดว่าเป็นเมนส์จะขอลา เขาเกรงใจนายจ้างกัน ก็กินยาพาราแทน แล้วทนๆ เอา 

“ถ้าไม่ป่วยหนักๆ ก็ไม่มีใครอยากลาหรอก ถึงกฎหมายจะเขียนว่าลาได้แล้วต้องได้เงินด้วย แต่เอาจริงๆ นะที่เชียงใหม่ คือ ไม่ได้ ต่อให้วันนั้นคุณป่วยจริงๆ ลาไปนายจ้างก็ไม่ให้เงิน จะมีแค่โรงงานใหญ่ๆ บริษัทใหญ่ๆ หรือบางที่ทำโอทียังได้ชั่วโมงละ 40 บาทอยู่เลย”

การลางานสำหรับลูกจ้างถือเป็นเรื่องยากเสมอมา ไม่ว่าจะมีโอกาสนายจ้างไม่อนุญาตสูง หรือลาแล้วไม่ได้เงิน แต่ยังไงก็เป็นสิทธิของแรงงานที่ต้องได้ลาเมื่อต้องการ อย่างเช่นตอนที่เป็นเมนส์ กลุ่มคนงานหญิงฯ ที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงผลักดันข้อเรียกร้องนี้ พวกเขาก็เชื่อเช่นกันว่า เป็นสิทธิ์ของแรงงานที่จะได้รับความคุ้มครอง และลาหยุดเมื่อป่วย โดยได้รับค่าจ่าง

ข้อเรียกร้องของกลุ่ม คือ หนึ่ง – ให้แรงงานทุกคนที่ช่วงเมนส์มา สามารถลางานได้ 3-5 วัน นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องอื่นๆ เพื่อเด็กและสตรี อาจเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการทำงาน เช่น แจกผ้าอนามัยฟรีทั่วประเทศ สาม – รัฐต้องจัดสวัสดิการให้เด็กทั่วหน้า จัดที่พักฉุกเฉินให้เด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ฯลฯ

“เราตัดสินใจเพิ่มข้อกฎหมายในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะว่าถ้าจะแก้กฎหมายมันต้องผ่านสภา ผ่านอะไรหลายๆ อย่าง เป็นระดับประเทศเลย ถ้าอย่างนั้นก็เพิ่มเข้าไปที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานแทน เพราะมีกำหนดวันหยุดวันลาอยู่แล้ว แค่เพิ่มอันนี้เข้าไปเฉยๆ”

ความยากของการเคลื่อนไหว เพราะมุมมองที่ว่าเมนส์เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา 

100,000 รายชื่อ

เป้าหมายที่กลุ่มคนงานหญิงฯ ตั้งไว้ เพื่อที่จะสามารถยื่นเพิ่มกฎหมายหมายได้ แต่ยินบอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า การล่ารายชื่อเป็นเรื่องยากมาก ปัจจุบันมีเพียง 2,000 รายชื่อเท่านั้นที่พวกเขารวบรวมมาได้ หลังจากที่ผลักดันเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปี ยินให้ความเห็นว่า เพราะการมีประจำเดือนถูกมองเป็นเรื่องธรรมชาติ อาการข้างเคียงก็ถือเป็นเรื่องปกติไปด้วย ในมุมนายจ้างบางคนเลยรู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องให้ลา หรือฝั่งลูกจ้างเองที่กังวลเรื่องรายได้มากกว่า เลยไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องนี้มากเท่าไร

“เราเคยไปถามคนหนึ่งมาว่า เป็นยังไงบ้างเวลาเมนส์มา เขาก็บอกว่าปวดท้อง เราถามต่อว่าสมมติกฎหมายอนุญาตให้ตอนเป็นเมนส์สามารถหยุดได้ และได้รับค่าจ้าง คุณจะหยุดไหม เขาก็บอกว่าดีสิ อาจจะเอาแค่ 3 วันพอ ไม่ต้องถึง 5 วันก็ได้”

ความตั้งใจของกลุ่มต่อนี้เลยอยู่ที่เผยแพร่ความรู้และทำให้คนเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เป็นจุดที่ยินชอบในการเคลื่อนไหว เพราะเธอได้แชร์ประสบการณ์และทำให้คนอื่นๆ กลับมาสนใจสิทธิของตัวเอง มีหลายคนบอกกับเธอว่า พวกเขาก็ไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้ เมื่อได้รู้แล้วก็สนใจไปหาข้อมูลต่อ

“การที่เราได้เอาประสบการณ์ตัวเองเล่าให้คนอื่นฟัง เมื่อก่อนคนอื่นอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติ การที่เราปวดท้องเมนส์เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ ถ้าเราไปพูดกับเขา เขาจะนึกขึ้นได้ว่า เออ มันปวดจริงๆ ทรมานจริงๆ เราดีใจที่เขานึกขึ้นได้ ฉุกคิดขึ้นได้”

ไม่ใช่แค่เมนส์มาลาได้ แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องผลักดัน เพื่อให้แรงงานเข้าถึงสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี

นอกจากเมนส์มาลาได้ที่เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวหนึ่งเพื่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องผลักดันอีก ยินบอกว่า เรื่องค่าจ้างเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด เธอยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ีที่เธออยู่ บางคนยังไม่ได้รับค่าจ้าง 300 ต่อวันตามที่กฎหมายกำหนด

ภาคประชาชนไม่ได้เคลื่อนไหวเพียงฝ่ายเดียว ยังมีหลายหน่วยงานองค์กรที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และลงมาทำงานผลักดันร่วมกัน เช่นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีองค์กรแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญ ‘พัฒนาข้อเสนอนโยบาย และขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ กับหลักประกันทางสังคมของแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล’

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการสสส. เล่าถึงงานที่พวกเขากำลังขับเคลื่อน โดยเน้นที่ 3 ประเด็นหลัก หนึ่ง – ทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น เช่น ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง มีเวลาพักมากกว่า 1 ชั่วโมง กำหนดค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น สอง – ขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัว และสาม – พัฒนากลไกการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยที่การทำงานทั้งหมดนี้มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างทำงานบ้าน และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้น 

ยินทิ้งท้ายไว้ว่า หากใครสนใจอยากร่วมผลักดันนโยบายเมนส์มาลาได้ สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊กของกลุ่มชื่อว่า กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ