“ที่นี่ไม่มีการแบ่งแยก ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม” คุยกับล่ามคนหูหนวกประจำคลินิก SWING THAILAND เพราะการมีสุขภาวะทางเพศที่ดีเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเข้าถึงได้
“บางครั้งคนหูนวกมีความไม่สบายใจเรื่องความลับ เขากลัวว่าการที่เขามารักษาที่นี่ ความลับอาจจะหลุดไปได้”
สังคม ‘คนหูหนวก’ เป็นสังคมไม่ใหญ่มาก หลายคนรู้จักกัน และมีโอกาสที่เรื่องราวของแต่ละคนอาจถูกกระจายต่อ ‘แบงค์’ ณ ภัทร อิ่มวิเศษ เล่าให้เราฟัง
แบงค์ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กิจกรรมภาคสนาม หน่วยบริการคนหูหนวก (Deaf Unit Support) สำหรับคนที่มาใช้บริการคลินิก Swing Thailand คนที่แบงค์ดูแล คือ กลุ่มคนหูหนวก และบริการที่สวิงมอบให้ก็คือการดูแลสุขภาวะทางเพศ (Sexual well-being)
คลินิกสวิงได้รับการก่อตั้งโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เพื่อให้พนักงานบริการทางเพศและ LGBTQ+ สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ จากข้อจำกัดต่างๆ ที่มี ซึ่งการทำงานนี้ก็ได้รับการสนับสนุนมากมาย จากคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ถึงตอนนี้ตัวเลขปีจะอยู่ที่ 2567 แต่เรื่องเพศก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในบางสังคม เช่นสังคมคนหูหนวกของแบงค์ พวกเขายังมีความกลัวและไม่รู้วิธีดูแลตัวเอง โดยเฉพาะสุขภาวะทางเพศ เหตุผลสำคัญอยู่ที่การสื่อสารแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลก็ยากตาม
“วิธีการสื่อสารที่ดีที่สุดของพวกเรา คือ ภาษามือ แต่มันก็ไม่ค่อยมีข้อมูลพวกนี้ที่ถ่ายทอดในรูปแบบภาษามือ”
งานของแบงค์เลยเป็นการดูแลคนที่มาใช้บริการคลินิกที่เป็นคนหูหนวก และให้ข้อมูลความรู้ที่จำเป็นในการดูแลตัวเองสุขภาพทางเพศในสังคมคนหูหนวก
เราชวนไปคุยกับแบงค์ถึงงานที่เขากำลังทำ มันอาจทำให้เรารู้จักโลกของคนหูหนวก และความสำคัญของการให้ความรู้ด้านสุขภาพอนามัยและสุขภาวะทางเพศ
การทำงานเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนหูหนวก
โควิดเป็นเหตุผลที่ทำให้แบงค์ได้มาทำงานที่สวิง เหมือนกับคนอื่นๆ ที่โควิดเข้ามาเปลี่ยนชีวิตพวกเขา แบงค์เองก็เคยใช้บริการที่คลินิกอยู่แล้วในการตรวจสุขภาพ เพียงแต่ตอนนี้เขากลายมาเป็นเจ้าหน้าที่
“หลักๆ เราทำงานเรื่องการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และเป็นล่ามให้คนหูหนวกที่เข้ามารับบริการ”
คนมาใช้บริการหลากหลายไม่ได้มีแค่คนหูหนวกเท่านั้น วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานก็เดินเข้ามาคลินิก บริการที่คลินิกมีไว้รอก็จะมีตั้งแต่ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคทางเพศสัมพันธ์ บริการยาเพร็พ (PREP) เป็ป (PEP) ให้คำแนะนำในการใช้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ (Transgende) เป็นต้น
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นคลินิกย่อมไม่ใช่สถานที่ที่ใครก็อยากมา เพราะถ้ามาแปลว่าร่างกายพวกเขามีปัญหา ยิ่งเป็นคลินิกที่ให้บริการดูแลสุขภาวะทางเพศ ยิ่งเป็นการปิดประตูหลายๆ คนที่ไม่คิดจะตัดสินใจเข้ามา
แบงค์ บอกว่า ในสังคมคนหูหนวก พวกเขาไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นอย่างการดูแลตัวเอง เพราะปัญหาด้านการสื่อสาร และสังคมที่มีขนาดแคบ ใครทำอะไรก็รู้กันหมด ยิ่งทำให้เขาไม่อยากมาใช้บริการที่สวิง
“บางครั้งคนหูหนวกมีความไม่สบายใจเรื่องความลับ เขากลัวว่าการที่เขามารักษาที่นี่ ความลับอาจจะหลุดไปได้ อาจจะเจอถูกนินทาว่า เอ๊ะ คนนี้เขามาที่นี่ เพราะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า มันจะถูกตีตรา กลัวถูกมองเป็นตัวประหลาด
“เอาจริงๆ มันก็ค่อนข้างล้าหลังนะ เหมือนย้อนไปสมัยก่อนเลยว่า ใครที่ไปโรงพยาบาลแล้วมีอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ จะเป็นสิ่งที่น่าอับอาย ไม่อยากเปิดเผย แต่ปัจจุบันมีหลายคนที่มาเข้ารับบริการ แล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สังคมของคนหูหนวกบางส่วนก็ยังมีความเชื่อผิดๆ อยู่ค่อนข้างเยอะ”
เฟซบุ๊ก (Facebook) ติ๊กต็อก (Tiktok) กลุ่มไลน์ (Line) ช่องทางที่แบงค์ใช้เพื่อกระจายข้อมูลและบอกให้คนหูหนวกรับรู้ว่า การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ มีสถานที่นี่ที่เปิดต้อนรับพวกเขา โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าเรื่องราวของพวกเขาจะหลุดออกไป ข้อมูลเหล่านี้ถูกถ่ายทอดด้วยภาษามือ สร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้น
“งานของผมจะเริ่ม 10 โมง มีทำคลิปภาษามือประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สำคัญ นอกจากของคนหูหนวก เราก็ทำของคนปกติด้วย เช่น ทำคลิปแนะนำวิธีเดินทางมาที่คลินิก บอกเขาว่าเรามีชุดตรวจ HIV นะ มีบริการอะไรบ้าง หรือว่าจะมีกลุ่มลับที่วิถีชีวิตเขาค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์ เราอาจจะต้องมีวิธีสื่อสารที่เป็นพิเศษ ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าเราไม่ใช่ตำรวจนะ เราแค่อยากบอกข้อมูลที่จำเป็นต่อพวกเขาเราสนับสนุนการป้องกันตัวจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น”
จากการเก็บบันทึกจำนวนคนที่มาใช้บริการที่คลินิกสวิง ช่วงปี 2565 มีคนหูหนวกมาใช้บริการประมาณ 102 คน
การสื่อสาร ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนหูหนวกเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ
“ปัญหาของคนหูหนวกคือการสื่อสาร เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศ เขาพูดภาษาอะไรเราแทบจะฟังไม่รู้เรื่องเลย จะไปติดต่อราชการหรือไปโรงพยาบาลอะไรก็ไปไม่ถูก ชีวิตของคนหูหนวกก็จะอารมณ์ประมาณนี้เลย ถึงจะมีศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) มันก็ช่วยได้บ้าง แต่ว่าการสื่อสารก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่”
ตัวแบงค์มีโอกาสเข้ารับการผ่าตัดเพื่อติดตั้งเครื่องช่วยฟัง แม้มันจะไม่ได้ทำให้เขาได้ยิน 100% แต่ก็ทำให้การใช้ชีวิตที่ประเทศนี้ดีกว่าคนหูหนวกอื่นๆ เพราะมันทำให้เขาพอฟังและสื่อสารได้
ภาษามือเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการสื่อสารของคนหูหนวก แต่ก็มีหลากหลายตามท้องถิ่นของคนใช้ เหมือนภาษาอื่นๆ แบงค์ยกตัวอย่างว่าในไทยจะมีภาษามืออีสาน ภาษามือเหนือ ภาษามือใต้ ฯลฯ ‘ภาพ’ เลยกลายเป็นวิธีที่คนหูหนวกสื่อสาร
“เวลาติดต่อราชการเราไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ไม่ค่อยมีคู่มือแนะแนวทางบอกเลย แล้วทางรัฐเองก็ไม่มีการรองรับคนหูหนวก เจ้าหน้าที่บางคนเข้าใจว่า แค่เขียนก็จบแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ การเขียนอ่านมันไม่สร้างความเข้าใจให้กับคนหูหนวกได้ทุกคน”
‘เจ้าหน้าที่ใช้คําว่า “เป็นใบ้” ซึ่งเป็นคําที่ไม่สุภาพ อยากให้เปลี่ยนเป็นคําว่า “พูดไม่ได้” ’
เหตุการณ์หนึ่งที่คนหูหนวกอาจเจอเมื่อใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ ตัวเลือกที่หลายคนเลือกเพราะค่าใช้จ่ายถูก หรือใช้สิทธิ์ต่างๆ ที่มีได้ แต่ประสบการณ์ที่เจอก็ทำให้ถ้าเลือกได้ก็อยากเลี่ยงไปใช้ที่อื่นแทน
จากการสอบถามข้อมูลของคนหูหนวกที่มาใช้บริการที่สวิงถึงประสบการณ์ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ มีหลากหลายคำตอบ เช่นว่าขั้นตอนเรียกคิว ส่วนใหญ่จะใช้การพูดเพื่อบอก ซึ่งคนหูหนวกไม่สามารถรับรู้ได้ อาจพลาดโอกาสในการใช้บริการ บางโรงพยาบาลไม่มีล่ามภาษามือบริการ คุยกับหมอหรือพยาบาลยากขึ้น
นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนหูหนวกบางส่วนเลือกจะไปคลินิก ที่ทำให้สบายใจที่จะเข้าไปใช้บริการ หรือซื้อยาออนไลน์แทน
ถ้าใครอยากสื่อสาร หรือเห็นว่าคนหูหนวกต้องการความช่วยเหลือ แล้วอยากเข้าไปช่วย แบงค์แนะนำไว้ว่า “ถ้าจะเขียนค่อนข้างยาก เพราะบางคำศัพท์เข้าใจยาก คนหูหนวกอาจจะไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น จะคุยกับคนหูหนวกว่าพรุ่งนี้เจอกัน 10 โมง เขียนบอกเขาเข้าใจนะ แต่ถ้าเป็นประโยคที่ยาวๆ ละเอียดหน่อย เขาจะไม่เข้าใจ ไวยากรณ์ของคนหูหนวกมีการสลับคำกัน เช่น คนหูดีพูดว่า ‘เรากินข้าว’ แต่ภาษามือจะเป็นภาพประมาณว่า ข้าว ฉัน กิน เพราะฉะนั้นเราเลยบอกว่าเกิดความสับสนได้ง่าย เพราะมีการสลับคำกัน
“แต่ถ้าจำเป็นต้องเขียนก็เลือกเป็นคำๆ ที่เข้าใจง่ายๆ แต่จริงๆ ถ้าเราใช้ใจในการสื่อสาร มันไม่ต้องอะไรมากมาย ใจเรามันจะบอกเองว่าต้องยังไงบ้าง”
ที่สวิงนอกจากมีล่ามภาษามือบริการให้คนหูหนวกแล้ว มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นสำหรับคนหูหนวกในการเข้าใช้บริการสุขภาพ อย่างทำพจนานุกรมรวบรวมคำศัพท์ทางการแพทย์ฉบับภาษามือ เพื่อให้คนที่สนใจได้เรียนรู้และนำไปใช้สื่อสารกัน มีระบบล่ามภาษามือบริการสำหรับคนหูหนวกที่ต้องการไปใช้บริการศูนย์สุขภาพที่อื่นๆ ทั้งไปด้วยกันและในรูปแบบออนไลน์
ทุกคนควรเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและการดูแลตัวเอง
“การจะเข้าไปใช้บริการระบบสุขภาพได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะ ไม่ใช่ว่าไปปุ๊บจะได้ปั๊บตามความต้องการของเรา วิถีชีวิตของคนบางกลุ่มก็ทำให้เขาไม่อยากไปตรวจ บางคนตรวจเจอก็อาย หรือกลัวว่าเพื่อนรู้ ที่ทำงานรู้แล้วจะโดนไล่ออก ทำให้การเข้ารับบริการยังยากอยู่จนถึงทุกวันนี้”
‘สุ่ย’ ภัทรานิษฐ์ มีครัว เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาประจำสวิง บุคคลคนแรกๆ ที่เราจะเจอหากเข้ามาใช้บริการที่คลินิก คอยให้คำแนะนำและอยู่ด้วยจนกว่าผลตรวจโรคจะออก ซึ่งเป็นด่านแรกๆ ของการใช้บริการที่นี่ และก็เป็นสิ่งแรกที่ทำให้คนเลือกจะมาสวิง
เพราะการเข้ารับรักษาที่เกี่ยวข้องกับทางเพศยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน ทำให้เมื่อมีใครสักคนตัดสินใจมาคลินิก พวกเขาจะเจอบรรยากาศที่อบอุ่นและช่วยให้พวกเขาไม่ต้องกลัว เปลี่ยนทัศนคติที่เคยมีต่อเรื่องนี้
“ที่นี่ไม่มีหมอประจำ จะเจอเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา สามารถลงทะเบียนมาตามช่องทางต่างๆ ที่เรามี ถ้าใครที่มาใหม่เราก็จะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรก่อน ไม่ให้เขาเครียด ก่อนที่จะคุยเชิงลึก เพราะบางคนไม่กล้าพูดความจริง หรือเปิดเผยพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเอง เลยเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคุยกับเขาก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลจริงๆ ของเขา ถ้าไม่ได้ข้อมูลความจริง ในกรณีที่ผลตรวจออกมาแล้วเป็นบวก มันยากต่อการคุยต่อ เราเลยต้องชวนคุยคลายเครียด คลายกังวล ภาวะสุขภาพจิตต่างๆ คุยหมด ทำให้ที่นี่อาจจะแตกต่างกับที่อื่นที่จะมาตรวจอะไรก็ตรวจเลยจบ”
ผลตรวจถือเป็นด่านยากของหลายๆ คน ถ้าเจอผลลบอาจเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้ปรับการใช้ชีวิตใหม่ แต่ผลบวกก็เป็นเรื่องยากที่จะรับมือ หน้าที่ของสุ่ยจึงต้องมีวิธีมอบข้อมูลและดูแลเขาหลังจากนั้น
“เราต้องประเมินภาวะการฆ่าตัวตายของเขาด้วย เพราะว่าเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดไรขึ้นได้บ้าง ควรเช็คตั้งแต่แรกเลย ประสบการณ์ทำงานมันก็จะช่วยสอนเราเองว่า เราต้องทำยังไง ถ้าเจอคนนั่งนิ่งไปเลย หรือร้องไห้ เราต้องรับมือยังไง”
สิ่งที่คลินิกพยายามสื่อสารกับสังคม ไม่ใช่ว่าให้เกิดความกลัว แต่คือความสำคัญที่มนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงการดูแลสุขภาพตัวเองในทุกๆ ด้าน
“อะไรที่เราสามารถควบคุมได้ เราก็ทำไปก่อน เพราะเราควบคุมธรรมชาติคนไม่ได้ ทุกคนมีความต้องการ สิ่งที่เราควรจะทำ คือ มอบเครื่องมือที่จำเป็นให้เขา ให้ความรู้ เพื่อที่เขาจะรู้จักการป้องกันตัวเอง”
ในมุมมองของแบงค์ การตัดสินใจจะใช้ชีวิตยังไงถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล และเป็นความรับผิดชอบของคนคนนั้นในการดูแลตัวเอง แต่คนคนเดียวไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง จึงต้องมีระบบกลางที่ดูแลพวกเขาร่วมด้วย
“ที่คลินิกไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือคุณมีปัญหาอะไรก็ตาม ทุกคนคือคนเหมือนกัน ต้องการอะไรก็มี ยา ความช่วยเหลือ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้วมีประโยชน์มาก เพราะบางคนกังวลที่จะไปโรงพยาบาล เขารู้สึกอับอายหรือกลัวไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ผมว่าเราสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ดีที่สุด” แบงค์ทิ้งท้าย
หากใครสนใจอยากเข้าใช้บริการ สามารถลงทะเบียนบัตรได้ที่นี่ https://testmenow.net/home/reservation/1101 หรือสอบถามข้อมูลตามช่องทางต่างๆ ของ SWING THAILAND